วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มี.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ไทยและเมียนมาร่วมมือกันดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการสร้างฝายชั่วคราวในแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำน้ำในแม่น้ำสายซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศมาใช้ในการเกษตร โดยเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑ คณะผู้แทนฝ่ายไทย ซึ่งมีนายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นหัวหน้าคณะ และนายศิระ สว่างศิลป์ ผู้อำนวยการกองเขตแดน (อำนวยการระดับสูง) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองหัวหน้าคณะ ได้หารือกับคณะผู้แทนฝ่ายเมียนมาซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็กเป็นหัวหน้าคณะ เกี่ยวกับการสร้างและซ่อมแซมฝายชั่วคราวในแม่น้ำสาย เพื่อให้สามารถนำน้ำมาใช้ในพื้นที่เกษตรฝั่งไทยซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๒๑,๐๘๒ ไร่ โดยมีผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักงานชลประทานจังหวัดเชียงราย นายอำเภอแม่สาย ผู้นำชุมชนฝ่ายไทย และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในแม่น้ำสาย เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศในการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิในการเดินเรือ การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม การบำรุงรักษาและการอนุรักษ์ทางเดินปัจจุบันของน้ำในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ระหว่างไทยและเมียนมา ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยการดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจจริงของทั้งไทยและเมียนมา ที่จะร่วมมือหาแนวทางดำเนินการเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองฝ่าย
อนึ่ง ไทยและเมียนมามีเขตแดนทางบก ทั้งที่เป็นภูเขาและแม่น้ำ ยาวประมาณ ๒,๔๐๑ กิโลเมตร สำหรับแม่น้ำที่เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมามีระยะทางรวมประมาณกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมา ได้แก่ แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก จังหวัดเชียงราย แม่น้ำสาละวินจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำเมย จังหวัดตาก และแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ทั้งนี้ สำหรับแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก จังหวัดเชียงรายนั้น ไทยและเมียนมาได้จัดทำ MOU ร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งได้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันโดยการใช้น้ำในช่วงแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวกนี้อย่างเป็นธรรม
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **