วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation – OIC) และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ OIC รวม ๘ คน ประกอบด้วย (๑) นาย Salih Mutlu Sen เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรตุรกีประจำ OIC (๒) นาย Omar Gibril Sallah เอกอัครราชทูตแกมเบีย ณ กรุงริยาด (๓) Dato Zainol Rahim Zainuddin เอกอัครราชทูตมาเลเซีย ณ กรุงริยาด (๔) นาย Agus Maftuh Abegebriel เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ณ กรุงริยาด (๕) นาย Majed Thalji Alqatarneh กงสุลใหญ่จอร์แดน ณ เมืองเจดดาห์ (๖) นาย Shehryar Akbar Khan กงสุลใหญ่ปากีสถาน ณ เมืองเจดดาห์ (๗) นาย Moosa Abdulla Al Noaimi รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศบาห์เรน และ (๘) นาย Hassan Abedin ผู้อำนวยการกองมุสลิมชนกลุ่มน้อย สำนักเลขาธิการ OIC เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ – ๕ มีนาคม ๒๕๖๑ และในโอกาสนี้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่กระทรวงการต่างประเทศ
คณะผู้แทนดังกล่าวได้เดินทางเยือนจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามของภาครัฐและภาคเอกชน วิถีชีวิตท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และได้เข้าเยี่ยมคารวะจุฬาราชมนตรีที่มัสยิดกลาง จังหวัดสงขลา นอกจากนี้ คณะได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เพื่อพบปะชุมชนไทยมุสลิม และเยี่ยมชมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาของจังหวัดเชียงใหม่
ในภาพรวม คณะผู้แทนฯ ชื่นชมนโยบายการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และความเปิดกว้างและความโปร่งใสของรัฐบาลไทย ซึ่งคณะฯ ได้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม และสิทธิเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม โดย OIC สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะการพูดคุยสันติสุข และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และเน้นย้ำว่า OIC ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และปฏิเสธความรุนแรงในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ถือเป็นความสำเร็จของไทยที่สามารถเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการดูแลชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี และขอให้ชาวไทยมุสลิมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ในด้านการศึกษา คณะผู้แทนได้ชื่นชมพัฒนาการด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอแนะ ให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการมีหลักสูตรสายสามัญควบคู่ไปกับการสอนศาสนาอิสลาม รวมถึงการศึกษาสายอาชีพ เพื่อให้เยาวชนไทยมุสลิมมีศักยภาพในการแข่งขันกับเยาวชนไทยอื่น ๆ และสามารถประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ โดย OIC พร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับรัฐบาลไทยต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **