เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รัฐบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล เพื่อขับเคลื่อนระบบแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล และส่งเสริมการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของลูกจ้าง โดยมี NGOs ของไทยและต่างประเทศ อาทิ องค์การมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล ศรีราชา มูลนิธิ Environmental Justice Foundation องค์กร Human Rights Watch ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตลอดจนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ด้วย
คณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำมาตรการในการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเลที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ การสร้างเครือข่ายแรงงานประมงทะเล การให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการเจรจาต่อรอง และการจัดตั้งเวทีกลางสำหรับการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้เสียงของแรงงานภาคประมงทะเลดังและเข้มแข็งมากขึ้นในการปกป้องสิทธิของตนเอง โดยให้นำเสนอแนวทางของมาตรการต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
จากการประชุมของคณะทำงานฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ได้มีข้อเสนอให้จัดตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลจังหวัด ในพื้นที่ติดชายทะเล ๒๒ จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ ๑ เครือข่าย ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวจะเป็นองค์กรการรวมตัวของลูกจ้าง มีการเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจากเรือแต่ละลำเป็นสมาชิกเครือข่าย โดยมีสมาคมประมงแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และ NGOs เป็นที่ปรึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับการรวมตัวของแรงงานและทั้งไทยและต่างด้าวในภาคประมง เพื่อให้แรงงานสามารถดูแลกันเองได้ เพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ส่งเสริมให้มีการหารือร่วมเพื่อลดข้อขัดแย้ง และให้ลูกจ้างสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ หรือร้องทุกข์นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดได้ โดยจะนำร่องใน ๕ จังหวัดชายทะเลก่อน ได้แก่ ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และตรัง นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนจะส่งเสริมให้จัดตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นการรวมตัวของสมาชิกเครือข่ายแรงงานประมงทะเลจังหวัดต่อไป
นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การดำเนินการทั้งหมดนี้ เป็นการเตรียมการเข้าสู่กระบวนการรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๑