คณะผู้แทนไทยร่วมการหารือทางการเมืองทวิภาคีไทย - ศรีลังกา ครั้งที่ ๔ และเดินทางไปสำรวจและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐาน การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา

คณะผู้แทนไทยร่วมการหารือทางการเมืองทวิภาคีไทย - ศรีลังกา ครั้งที่ ๔ และเดินทางไปสำรวจและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐาน การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,049 view
          ระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ – ๓ มีนาคม ๒๕๖๑ นายบรรจง อมรชีวิน ผอ. ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ ๒ เดินทางไปเข้าร่วมการหารือทางการเมืองทวิภาคีไทย - ศรีลังกา ครั้งที่ ๔ โดยมี นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายไทย ร่วมกับ นายประสาท การิยวสัม (Mr. Prasad Kariyawasan) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประธานฝ่ายศรีลังกา โดยมีเจ้าหน้าที่ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ ๒ และคณะทำงานเผยแพร่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าร่วมด้วย ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
          ภายหลังจากการประชุมหารือดังกล่าว คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปติดตามผลความคืบหน้าโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา ดังนี้
          เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นายพัลลภ ตันจริยภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ จากกรมการพัฒนาชุมชน และนางสาวอัจฉรา ไชยสาส์น นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เดินทางไปสำรวจและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ หมู่บ้าน Wathupola ที่เมือง Puttalam สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
          เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ นางบุษยา  มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ณ หมู่บ้านลักชา อูยานา (Laksha Uyana) เมืองโพลอนนารูวา (Polonnaruwa) ตอนกลางของศรีลังกา โดยมี นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ นายบรรจง อมรชีวิน ผอ. ส่วนให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ ๒ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
          ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รับฟังบรรยายสรุปจาก ดร. Sunil Jayantha Nawaratne อธิบดีกรม Samurdhi Development เกี่ยวกับนโยบายการลดความยากจนของศรีลังกา และโครงการ SEP ที่กำลังร่วมมือกับไทยดำเนินการที่ ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ (๑) หมู่บ้านเดลโตต้า (Delthota) เมืองแคนดี้ (Kandy) (๒) หมู่บ้านลักชา อูยานา (Laksha Uyana) เมืองโพลอนนารูวา และ (๓) หมู่บ้านวาตูโพลา (Wathupola) เมืองพุทลัม (Puttalam) โดยฝ่ายศรีลังกาประสงค์จะร่วมมือกับไทยขยายองค์ความรู้ SEP ให้แก่การพัฒนาหมู่บ้านในศรีลังกา และขอรับการสนับสนุนการจัดอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปผลไม้ การบรรจุหีบห่อ วิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตร
และพืชสวน การนำเข้าเครื่องจักรจากไทย และการแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่บ้านมิตรภาพไทย-ศรีลังกา 
          ภายหลังการบรรยายสรุป ฝ่ายศรีลังกา นำปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เยี่ยมครัวเรือนในชุมชน รวมทั้งชาวบ้านที่เคยเข้าร่วมการอบรม SEP S-M-A-R-T Mobilizing Team เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ประเทศไทย ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้ (๑) การเลี้ยงปลาสวยงามซึ่งการอบรม SEP ที่ไทยช่วยสร้างกระบวนคิดให้ชุมชนตัดสินใจจากศักยภาพของชุมชนในการเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อส่งออก (๒) การปลูกกล้วยและการแปรรูปกล้วยในรูปกล้วยฉาบงาและถั่ว ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากไทย (๓) การเย็บกระเป๋า ซึ่งชุมชนได้นำการดูงานจากไทยมาปรับปรุงการออกแบบ (๔) การปลูกพืชผักสวนครัวซึ่งได้ขยายจำนวนพืชผัก
ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และ (๕) การเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีการแบ่งแปลงพืชต่าง ๆ อาทิ มะพร้าว มะละกอ ฝรั่ง
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ