องค์คณะพิเศษพิจารณาคดีเรือประมงผิดกฎหมายของศาลอาญาตัดสินปรับคดีเรือนอกน่านน้ำไทยเป็นเงินจำนวน ๒ ล้านบาท

องค์คณะพิเศษพิจารณาคดีเรือประมงผิดกฎหมายของศาลอาญาตัดสินปรับคดีเรือนอกน่านน้ำไทยเป็นเงินจำนวน ๒ ล้านบาท

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,485 view
          เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ องค์คณะพิเศษพิจารณาคดีเรือประมงผิดกฎหมายของศาลอาญาได้ตัดสินให้เจ้าของเรือประมง “เรืองลาภ ๙” มีความผิดฐานทำประมงผิดกฎหมาย เนื่องจากจำเลยไม่ได้นำเรือประมงกลับเข้าเทียบท่าเรือตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศกรมประมง โดยศาลสั่งปรับจำเลยเป็นจำนวนเงิน ๒ ล้านบาท นับเป็นคดีแรกที่ตัดสินโดยองค์คณะพิเศษของศาลอาญาซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เป็นต้นมา
          คำสั่งศาลอาญาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่เรือเรืองลาภ ๙  ซึ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาด ๑๙๒.๑๗ ตันกรอส ได้ออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทยตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ต่อมากรมประมงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ กำหนดให้เจ้าของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐ ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทย ต้องนำเรือประมงกลับเข้าเทียบท่าเรือประมงภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ แต่เจ้าของเรือยังคงทำการประมงและมิได้นำเรือ
กลับเข้าเทียบท่าภายในเวลาที่กำหนด กรมประมงจึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าของเรือลำดังกล่าว
          ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พ.ร.ก. การประมงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ กรมประมงได้ออกประกาศเรียกเรือนอกน่านน้ำทุกลำกลับเข้าท่า เพื่อจัดระเบียบเรือนอกน่านน้ำใหม่ทั้งหมด โดยเรือจะต้องเข้าระบบการจดทะเบียนและการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง จนถึงขณะนี้ กรมประมงยังไม่อนุญาตให้เรือนอกน่านน้ำไทยออกไปทำการประมง จนกว่าการวางระเบียบและมาตรการควบคุมทั้งในด้านการทำประมงและการคุ้มครองแรงงานบนเรือประมงจะเสร็จสมบูรณ์
          อนึ่ง เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๑ ศาลอาญาได้แต่งตั้งองค์คณะพิเศษทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะ ๒ คณะ โดยจะมีการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือนนับตั้งแต่วันฟ้อง ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรวดเร็วและเด็ดขาดมากขึ้น เพื่อผลในการป้องปรามการกระทำผิดของผู้ประกอบการเรือประมง จนถึงปัจจุบัน มีเรือประมงนอกน่านน้ำถูกดำเนินคดีไปแล้วทั้งหมด ๖๕ ลำ รวม ๘๐ คดี คดีถึงที่สุดแล้ว ๕๔ คดี โดยมีโทษจำคุกสูงสุดคือ ๑ ปี ๑๕ เดือน และยอดปรับสูงสุด คือ มากกว่า ๑๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเรือทั้ง ๖๕ ลำถูกถอนใบอนุญาตทำประมง และจะไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตใหม่ได้อีกเป็นระยะเวลา ๕ ปี