นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ หลังการเยือนประเทศไทยของนายอัลเจลิโน อัลฟาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ ๘ - ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
สาธารณรัฐอิตาลีเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศแรกที่เยือนประเทศไทยในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสาธารณรัฐอิตาลีเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเช่นกัน
การแลกเปลี่ยนการเยือนดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายฉลอง ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้
การหารือมีขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการรื้อฟื้นและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองในทุกระดับ และได้ติดตามผลการหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันตามที่ได้หารือกันไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ฝ่ายอิตาลีเห็นชอบกับข้อเสนอของฝ่ายไทยในการรื้อฟื้นกลไกคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission - JC) ในระดับรัฐมนตรี และการจัดตั้งคณะทำงานด้านอุตสาหกรรมหนัก smart city และ creative industry ภายใต้ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้าน ในการนี้ ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Political Consultation ไทย-สาธารณรัฐอิตาลี ครั้งที่ ๒ เพื่อเตรียมการไปสู่การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมต่อไป
ฝ่ายอิตาลีได้แสดงความสนใจในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ทั้งสองฝ่ายจึงได้หารือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการจัดคณะ EEC roadshow ไปอิตาลี การจัดเสวนาเกี่ยวกับโอกาสการค้าการลงทุนในไทย และการจัดคณะนักธุรกิจสาธารณรัฐอิตาลีมาเยือนไทย เพื่อสำรวจโอกาสด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ EEC
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้การสนับสนุนสภาธุรกิจไทย-สาธารณรัฐอิตาลี (Thai-Italy Business Forum) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในห้างสรรพสินค้า La Rinascente ในสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐอิตาลีแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยให้แก่ชาวอิตาลีด้วย
ในส่วนของประเด็นระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในเรื่องความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป พันธกิจของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในประเด็นต่างๆดังกล่าว ทั้งนี้ ฝ่ายอิตาลีได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการมีความสัมพันธ์กับอาเซียน ฝ่ายไทยได้สนับสนุนความสนใจของอิตาลี และเสนอให้ฝ่ายอิตาลีพัฒนาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา- แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekhong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) ซึ่งก็เป็นสมาชิกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และกำลังจัดทำ ACMECS Master Plan ระหว่างกัน
ฝ่ายไทยขอบคุณที่ฝ่ายอิตาลีเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งกำลังดำเนินการตามโรดแมปไปสู่การมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และขอบคุณอิตาลีที่สนับสนุนในกรอบความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป
ท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ที่ให้การต้อนรับตนและคณะเป็นอย่างดี