รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๓๗ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๓๗ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,539 view

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๓๗ (37th Session of the Human Rights Council) ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดยมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม HRC สมัยที่ ๓๗ และกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา

​นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะใช้โอกาสนี้พบหารือกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือเกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานทั้งในไทยและภูมิภาค รวมทั้งติดตามและผลักดันความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในประเด็นต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของไทยในมิตินี้ต่อไป

​การเข้าร่วมการประชุม HRC สมัยที่ ๓๗ ครั้งนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญของไทยอีกครั้งหนึ่งในการยืนยันเจตนารมณ์และแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ และจะใช้โอกาสนี้เน้นย้ำพัฒนาการเชิงบวกของไทยในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ การประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ การตอบรับคำขอเยือนไทยอย่างเป็นทางการของคณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ระหว่างวันที่ ๒๖ มีนาคม - ๔ เมษายน ๒๕๖๑ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ ๆ เช่น การดูแลกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ปี ๒๕๖๑ ยังเป็นปีแห่งการครบรอบ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน ๔๘ ประเทศแรกที่ร่วมรับรองปฏิญญาดังกล่าวด้วย

​อนึ่ง HRC มีหน้าที่ติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก หยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ เกิดขึ้น สร้างบรรทัดฐานของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ