ข้อคิดเห็นต่อสารคดี “Oceans of Crime” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ CNBC

ข้อคิดเห็นต่อสารคดี “Oceans of Crime” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ CNBC

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,936 view

ตามที่สถานีโทรทัศน์ CNBC ได้เผยแพร่สารคดีเรื่อง “Oceans of Crime” เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้

๑. สารคดีดังกล่าวถ่ายทำเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ จึงมิได้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่และความคืบหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงในห้วง ๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งในด้านการปฏิรูปกฎหมาย กรอบนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงของไทยดีขึ้นอย่างมาก ดังนั้น สารคดีจึงควรนำเสนอข้อมูลความพยายามเหล่านี้อย่างครอบคลุม

๒. การดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานได้ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ การบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งกำหนดโทษปรับการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงต่อหัวสูงมาก การตรวจแรงงานอย่างเข้มงวด การจัดระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดเก็บอัตลักษณ์แรงงาน การออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญาจ้างซึ่งต้องจัดทำเป็นภาษาของลูกจ้างและให้แรงงานเก็บคู่สัญญาไว้ด้วย การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อให้มีหลักฐานการจ่ายค่าจ้าง การกำหนดให้การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเป็นความผิดตามกฎหมายค้ามนุษย์ การออกกฎหมายจัดระเบียบบริษัทจัดหางาน การกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในภาคประมง การออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีในสถานที่อันตราย ซึ่งรวมถึง
ในเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น

๓. นอกจากนี้ ไทยมีความพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ และกำลังแก้ไขกฎหมายและมาตรการที่มีอยู่ของทุกหน่วยงาน เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง รวมทั้งอยู่ระหว่างการปรับปรุงการแก้ไขกฎหมายภายใน เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

๔. นอกเหนือจากความพยายามของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมงด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ เช่น บริษัท Thai Union กำลังดำเนินโครงการ SeaChange เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของการทำประมง ทั้งในแง่การจ้างงานอย่างมีจริยธรรม การคงสภาพการทำงานในเรือประมงที่ดี การส่งเสริมสิทธิแรงงานประมง และการตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยได้ร่วมมือกับ Seafood Task Force ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างบริษัทค้าอาหารทะเลชั้นนำของโลก รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม เช่น Issara Institute, LPN, Verité เป็นต้น

๕. ไทยมีความเห็นว่า การเผยแพร่สารคดีเรื่อง “Oceans of Crime” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC เป็นประโยชน์ในการสร้างการรับรู้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญและการดำเนินการอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อแสดงถึงสถานการณ์จริงในพื้นที่และควรสะท้อนมุมมองของทุกภาคส่วนอย่างสมดุลเพื่อให้ผู้ชมได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ฝ่ายไทยพร้อมจะทำงานร่วมกับ CNBC ในเรื่องนี้ต่อไป