เมื่อวันที่ ๑๒ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงการหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) ครั้งที่ ๒ ตามคำเชิญของรัฐบาลเมียนมา ที่กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยการลงนามครั้งนี้ เป็นการลงนามเพิ่มเติมของกลุ่ม NMSP (มอญ) และกลุ่ม LDU (ลาหู่)
พิธีลงนามดังกล่าว แม้จะเป็นครั้งที่ ๒ แต่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของกระบวนการสันติภาพภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยการลงนาม NCA ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Union Solidarity and Development Party (USDP) ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เมื่อปี ๒๕๕๘ กับชนกลุ่มน้อย ๘ กลุ่ม
การเข้าร่วมเป็นสักขีพยานฯ ครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำนโยบายของไทยที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติของเมียนมา ซึ่งความสงบสุขของเมียนมาย่อมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – เมียนมา ในฐานะ “หุ้นส่วนทางธรรมชาติ” (natural strategic partners) ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
การลงนาม NCA เพิ่มเติมของกลุ่มมอญและลาหู่มีความสำคัญ คือ เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ติดกับชายแดนไทย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงและการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบที่พำนักอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง ๙ แห่งในฝั่งไทยได้ในอนาคตอันใกล้
ผู้แทนต่างประเทศที่เข้าร่วมพิธีลงนาม NCA ในครั้งนี้ มี ๖ ประเทศ/องค์กร (เช่นเดียวกับการลงนามครั้งแรก) ประกอบด้วย (๑) ไทย คือ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๒) จีน คือ นายซุน กั๋วเสียง ผู้แทนพิเศษกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน (๓) ญี่ปุ่น คือ นายโยฮิเอะ ซาซากาว่า ผู้แทนพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับกระบวนการสันติภาพแห่งชาติเมียนมาและประธานมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) (๔) อินเดีย คือ นายราจินเดอ คันนา รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (๕) สหภาพยุโรป คือ นายคริสเตียน ชมิดต์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำเมียนมา และ (๖) สหประชาชาติ คือ นางชามฉัด อัคตาร์ เลขาธิการบริหารเอสแคป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือกับอู จ่อ ติน ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในกระบวนการสันติภาพและการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ โดยยืนยันความตั้งใจของไทยที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ที่มูลเหตุของปัญหา ซึ่งไทยพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการคนไร้รัฐและการเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในรัฐยะไข่อย่างยั่งยืน