การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับออสเตรเลีย โดยส่งเสริมการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาค

การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับออสเตรเลีย โดยส่งเสริมการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,576 view
          กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะร่วมกับออสเตรเลียจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ในหัวข้อ “ASEAN-Australia Cybersecurity Workshop: Strengthening Legal Implementation in Tackling Cybersecurity Challenges in the Region” ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่โรงแรมดุสิตธานี เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นของไทยที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ (non-traditional security issues) และสอดคล้องกับ theme ของอาเซียนในปีนี้ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็ง (resilience) และนวัตกรรม (innovation)
          ในช่วงค่ำของวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร. โทไบอัส ฟีคิน (Dr. Tobias Feakin) เอกอัครราชทูตด้านกิจการไซเบอร์ออสเตรเลีย จะกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม โดยเน้นนโยบาย ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคง อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ  
          ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และออสเตรเลีย และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลียเกี่ยวกับ (๑) กลไกและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับอาญากรรมทางไซเบอร์ (๒) ส่งเสริมความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม (๓) แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับกลไกกำกับดูแลด้านไซเบอร์ และปฏิบัติการรับมือกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาค โดยจำลองสถานการณ์วิกฤติด้านไซเบอร์ในภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน และนำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ มาปรับใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างฉับพลัน