ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,164 view

          เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่ง WHO เป็นหนึ่งในเจ้าภาพร่วม

          ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยที่เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านสาธารณสุข ยึดมั่นต่อการดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) และประสงค์เรียนรู้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของไทยในการสร้างระบบ Universal Health Coverage (UHC) ที่เข้มแข็ง ซึ่งไทยพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาสามารถบรรลุ UHC ได้ โดยองค์การอนามัยโลกประสงค์ใช้ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ และได้กล่าวถึงประเด็นหลักที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการส่งเสริมสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) ในระดับชุมชน รวมถึงให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สุขภาพอนามัยของแม่และเด็ก และการรับมือกับโรคระบาดต่าง ๆ (health emergency) นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอดทั้งในด้านงบประมาณ และการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์รวมทั้งทีมฉุกเฉินไปช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ซึ่งทีมของไทยมีประสิทธิภาพมากในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ เช่น กรณีแผ่นดินไหวในเนปาล

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวขอบคุณที่องค์การอนามัยโลกสนับสนุนการดำเนินการของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนและดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) เมื่อปี ๒๕๖๐ ไทยได้ผลักดันให้วันที่ ๑๒ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล และในปี ๒๕๖๒ ที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน ไทยจะให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือด้านการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (active aging) และตั้งเป้าจะจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation ที่ประเทศไทย ภายในปี ๒๕๖๒ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยินดีจะร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ