ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ ๒๑

ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ ๒๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,526 view

เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย – ลาว ครั้งที่ ๒๑ ร่วมกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่ง สปป. ลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ให้มีผลคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม และร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือไทย – ลาว ต่อไปในอนาคต ภายใต้แนวคิด “ความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

​ที่ประชุมแสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย – ลาว ที่อยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งถือว่าเป็น "ยุคทอง" (Golden Age) โดยความร่วมมือในทุกมิติของสองประเทศมีความคืบหน้าตามลำดับ มีความเข้าใจกันที่ดีบนพื้นฐานของความคล้ายคลึงทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา และผลประโยชน์ร่วมกัน การหารือเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศของมิตรภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในการประชุม JC ไทย – ลาว ครั้งที่ ๒๑ นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้หารือและร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินความร่วมมือไทย – ลาว ภายใต้แนวคิดหลัก คือ “การเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Connectivity for Sustainable Development) เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงกันในทุกมิติ สรุปประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

๑. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
    ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา รวมทั้งเร่งรัดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน เพื่อไม่ให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาร่วมกัน และเน้นการบริหารจัดการชายแดนที่เข้มแข็งในทุกระดับผ่านทุกกลไก เพื่อให้ชายแดนไทย – ลาวมีความมั่นคงและเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับประชาชนของสองประเทศ นอกจากนี้ สองประเทศยังมุ่งมั่นที่จะป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและต่อต้านการค้ามนุษย์ และเร่งรัดการปรับสถานะแรงงานลาวในไทยให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งจะแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ถูกคุมขังของอีกชาติที่รับโทษอยู่ในประเทศตน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

๒. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
     - การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สองฝ่ายเห็นชอบให้เร่งรัดการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งด้านกายภาพและกฎระเบียบ ผ่านการเชื่อมโยงทั้งทางถนน สะพาน และทางรถไฟ โดยได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) เป็นลำดับแรก และจะเชื่อมโยงโครงการรถไฟลาว – จีน เข้ากับโครงการรถไฟไทย – จีน และจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงสำหรับรถไฟโดยเฉพาะที่จังหวัดหนองคาย โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเร่งรัดให้มีการอำนวยความสะดวกการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าข้ามพรมแดน และการไปมาหาสู่กัน โดยการพิจารณาเปิดพื้นที่ควบคุมร่วมกัน หรือ Common Control Area (CCA) ณ จุดผ่านแดนมุกดาหาร – สะหวันนะเขต รวมไปถึงการที่ลาวจะพิจารณาเพิ่มเส้นทางหมายเลข ๑๒ ให้เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศในโอกาสแรกต่อไป
     - การค้า สองฝ่ายยินดีที่การค้าระหว่างไทย – ลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่าย
มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันอีก ๒ เท่า ภายในปี ๒๕๖๔ (เป็นประมาณ ๑๑,๗๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและลาวจะหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการค้า ในขณะเดียวกันก็จะหาทางขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตกลงกันไว้
     - การลงทุน ของไทยใน สปป. ลาว ปัจจุบันมีมูลค่าสะสมรวมเป็นอันดับสอง รัฐบาลส่งเสริมนโยบายสำหรับการลงทุนใน สปป. ลาว เพิ่มเติม โดยเฉพาะ Smart Start-Up รวมทั้งส่งเสริมนโยบายการลงทุนที่มีคุณภาพและรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทของไทยที่ลงทุนในลาวมีโครงการที่ตอบแทนและคืนประโยชน์สุขแก่ชุมชน
     - ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ไทยยืนยันการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของทั้งไทยและลาว และภูมิภาคอาเซียน

๓. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สังคม และวัฒนธรรม
     - ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ที่ประชุมฯ ได้พิจารณากำหนดแนวทางต่อยอดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพ การเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ๕ เชียง อย่างเต็มที่ โดยยังอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนไว้ให้ยั่งยืน และสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการไปมาหาสู่ระหว่างกัน
     - ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทยจะเพิ่มพูนความร่วมมือกับลาวในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายแดนในสาขาเกษตร สาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาด้านกสิกรรมบนที่สูง ณ สถานีเลี้ยงวัวหนองหิน ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดใช้อาคารให้บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลเมืองปากซอง ร่วมกับ ฯพณฯ สะเหลิมไซ ซึ่งโครงการทั้งสองล้วนแต่เป็นโครงการตัวอย่างที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุม JC ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมการประชุม JCR ครั้งที่ ๓ ที่ฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ