การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ ครั้งที่ ๓

การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,888 view
เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) ครั้งที่ ๓ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยการประชุมฯ จัดภายใต้หัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมการนำข้อตกลงฯ ไปปฏิบัติใช้เพื่อการเสริมสร้างการรวมตัวทางสังคมและการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานในชุมชนประเทศปลายทาง” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมการประชุมจำนวน ๑๑๐ คน
 
ในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวย้ำว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นระดับโลก และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมทั้งความมั่นคงของรัฐและการคุ้มครองสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นฐานทุกกลุ่ม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปัจจัยสำคัญเกื้อหนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และขอบคุณข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนทุกภาคส่วนที่มาร่วมงาน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะนำไปประมวลเป็นท่าทีที่มีเอกภาพของไทยในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลง GCM ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่นครนิวยอร์กต่อไป   
 
นอกจากนี้ นายสุภาค โปร่งธุระ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้รายงานผลการประชุมเตรียมการระดับโลกเพื่อรวบรวมและประมวลข้อคิดเห็นสำหรับการจัดทำข้อตกลง GCM เมื่อวันที่ ๔ – ๖ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ เมืองเปอร์โตวัลลาตาร์ ประเทศเม็กซิโก โดยท่าทีของไทยซึ่งเป็นผลจากการประมวลข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ที่จัดมาแล้ว ๒ ครั้ง และประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย การสนับสนุนให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น สาธารณสุข และการศึกษา การคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นเด็ก โดยเฉพาะการไม่กักเด็กในสถานกักตัว ในกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ล้วนได้รับบรรจุในเอกสารสรุปผลลัพท์การประชุมดังกล่าว รวมทั้งร่างข้อตกลง GCM ต่อไปด้วย และได้แจ้งด้วยว่า ผู้อำนวยการใหญ่ IOM และประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๒ ได้หยิบยกนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยว่า เป็นตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากการมีเวทีที่เปิดกว้างเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทย 
 
การประชุมดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ โดยประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกัน คือ ความสำคัญของการมีฐานข้อมูล การทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อสร้างมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานโดยเฉพาะให้กับเยาวชน ความร่วมมือระหว่างประเทศปลายทางกับประเทศต้นทางซึ่งเอื้อต่อการโยกย้ายถิ่นฐานในรูปแบบที่ถูกกฎหมาย ข้อเสนอแนะในการเสริมสร้างการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในชุมชนประเทศปลายทาง รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เช่น คณะทำงานเกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อการติดตามผลการปฏิบัติตาม GCM และหาทางออกที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้
 
นาง Dana Graber Ladek ผู้แทน IOM ประจำประเทศไทย ได้กล่าวปิดการประชุม โดยขอบคุณ บทบาทนำของกระทรวงการต่างประเทศในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำ GCM ซึ่งได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เช่นนี้แล้วถึง ๓ ครั้ง พร้อมชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของภูมิภาคในการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน