นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – อินเดีย ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย และเข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ ๖๙ ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – อินเดีย ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย และเข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ ๖๙ ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 3,286 view
          เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – อินเดีย ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย ณ กรุงนิวเดลี โดยมีผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และผู้นำของอินเดียเข้าร่วม 
          ที่ประชุมฯ ได้รับรองปฏิญญาเดลี ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมที่มีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอินเดียในทุกมิติ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างกันและลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยมุ่งขยายความสัมพันธ์ในลักษณะมองไปข้างหน้าอย่างเบ็ดเสร็จ 
          ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – อินเดีย นายกรัฐมนตรีกล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องอินโด – แปซิฟิก และขอให้อินเดียและอาเซียนร่วมกันหาจุดสมดุลใหม่ในภูมิภาคเพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยคำนึงถึงความเป็นแกนกลางของอาเซียนและอยู่ร่วมกันแบบไว้เนื้อเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงทางทะเล ควบคู่ไปกับทางบก เช่น ทางหลวงสามฝ่าย และขอให้ทุกฝ่ายผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย ลดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะกับยางพาราและน้ำมันปาล์ม และเร่งหาข้อสรุปความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งเครือข่ายของเมืองอัจฉริยะทางวัฒนธรรม (SMART Cities – Cultural Centers) โดยใช้ประโยชน์ของสายสัมพันธ์
ด้านวัฒนธรรมและความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของอาเซียน – อินเดีย 
          ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย ด้านการเมือง ความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านดิจิทัล การสนับสนุนซื้อยางพาราและน้ำมันปาล์มจากไทย ความเชื่อมโยงในภูมิภาค แนวคิดอินโด – แปซิฟิก ความพร้อมของไทยในการรับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ 
          สำหรับการหารือกับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ (GMS Summit) ครั้งที่ ๖ ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑
          นายกรัฐมนตรีและคณะยังได้เข้าร่วมชมขบวนพาเหรดในงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ ๖๙ ในฐานะแขกเกียรติยศร่วมกับผู้นำอาเซียนอื่น ๆ อีก ๙ ประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อินเดียเชิญผู้นำอาเซียน ทั้งหมดเข้าร่วมงานวันสถาปนาฯ พร้อมกัน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำคัญที่อินเดียให้กับอาเซียน
          ทั้งนี้ ก่อนการประชุมฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในฐานะประธานร่วมกิจกรรมการเสวนาภาคธุรกิจกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – คงคา (Mekong – Ganga Cooperation Business Forum) ร่วมกับนายซี อาร์ ชูดรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐอินเดีย และนายวีเจย์ กูมาร์ ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้เน้นประเด็นความเชื่อมโยงที่ควรพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผลประโยชน์ทางสังคม (Moral Connectivity) การร่วมกำหนดเป้าหมายในรูปแบบของแผนแม่บทในอนุภูมิภาคผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความร่วมมือของกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – คงคา และบทบาทของภาคเอกชนในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ