เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ และกรมการกงสุล พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ
รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้มีการตรวจลงตราประเภท SMART Visa เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนจากต่างประเทศที่สนใจเข้ามาทำงาน หรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทยซึ่งจะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีกำหนดเริ่มกระบวนการยื่นขอรับการตรวจลงตราได้ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
SMART Visa เป็นวีซ่าประเภทพิเศษสำหรับชาวต่างชาติ ๔ กลุ่มประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น ที่มีคุณสมบัติพิเศษตามหลักเกณฑ์ และผ่านการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่กำหนด โดยจะต้องเข้ามาทำงาน ลงทุน หรือดำเนินกิจกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๐ ประเภท ได้แก่ (๑) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (๒) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (๓) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (๔) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (๕) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (๖) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (๗) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (๘) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (๙) อุตสาหกรรมดิจิตอล และ (๑๐) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
คุณสมบัติผู้ที่ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภท SMART Visa มีดังนี้
(๑) ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง
(๒) นักลงทุน
(๓) ผู้บริหารระดับสูง
(๔) Start-ups
สิทธิประโยชน์ที่ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภท SMART Visa จะแตกต่างจากวีซ่าชนิดทั่วไป ดังนี้
(๑) อายุวีซ่าสูงสุด ๔ ปี
(๒) ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
(๓) ขยายเวลารายงานตัวจากเดิมทุก ๙๐ วันเป็นทุก ๑ ปี
(๔) สามารถเดินทางเข้า-ออกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตกลับเข้ามาใหม่
(๕) คู่สมรสและบุตรได้รับสิทธิพำนักเท่ากับผู้ได้รับสิทธิหลัก และสามารถทำงานที่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้ามในบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒