ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ ๑๔

ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ ๑๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ม.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,657 view
ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย (Dato  Paduka Lim Jock Hoi) สัญชาติบรูไน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ ๑๔ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้จัดพิธีส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑โดยดำรงตำแหน่งต่อจากนายเล เลือง มินห์ (Le Luong Minh) สัญชาติเวียดนาม วาระปี ๒๕๕๖ – ๒๕๖๐ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ ๑๓ ต่อจาก ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ 
 
ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของบรูไนดารุสซาลาม ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอาเซียนได้พัฒนาตนเองไปสู่การเป็นหนึ่งในตัวแสดง (actor) ที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดว่าการดำเนินงานของอาเซียนในอนาคตควรเน้นความมุ่งมั่นในการรวมตัวกันอย่างแข็งขัน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้พร้อมรับมือต่อความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นจากโลกภายนอก โดยเฉพาะแนวทางการจัดการต่อภัยธรรมชาติ เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ (disaster-prone area) รวมถึงการพัฒนาอาเซียนให้ก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการและการวิจัยให้กับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
 
ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย และนายเล เลือง มินห์ ต่างมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันสำหรับอนาคตของอาเซียน โดยดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย มุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบการประชุมทางไกล (video conference) การตอบสนองต่อเหตุการณ์ภายในภูมิภาคอย่างทันท่วงที การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดการใช้กระดาษในการประสานงานภายในองค์กร รวมไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข่าวสารของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
ตามเจตนารมณ์ของกฎบัตรอาเซียน กำหนดให้เลขาธิการอาเซียนมีวาระการดํารงตําแหนงห้าปี ไม่สามารถต่ออายุได้ และเป็นการคัดเลือกบนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลําดับตัวอักษร โดยคํานึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม อาทิ ความซื่อสัตยสุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณทางวิชาชีพ และความเทาเทียมกันทางเพศของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่ง สำหรับประเทศไทย เคยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนมาแล้ว ๒ ครั้ง คือ ดร. แผน วรรณเมธี  (ระหว่างวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๗ – ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๙) และ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕) 
 
อนึ่ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยมีประเทศสมาชิกเริ่มต้น ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมา มีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และกัมพูชา ตามลำดับ จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๐ ประเทศ โดยมีที่ทำการอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน