เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๒ (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา กับผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีลาว รองประธานาธิบดีเมียนมา คนที่ ๑ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายกรัฐมนตรีจีน โดยมีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานร่วม
ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๒ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย แสดงความยินดีต่อพัฒนาการที่รวดเร็วของกรอบความร่วมมือ และความคืบหน้าของคณะทำงานทั้ง ๖ คณะ ตามสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญเร่งด่วน ๕ สาขา และการดำเนินโครงการเร่งด่วน การอนุมัติ ๑๓๒ โครงการภายใต้กองทุนพิเศษ MLC การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำและศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดตั้งเครือข่ายนักวิชาการ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ซึ่งเข้าถึงสาธารณชนได้อย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรีได้เสนอทิศทางสำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างในอนาคต ว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง สามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอนุภูมิภาคให้มีความทันสมัยโดยใช้นวัตกรรม มีความเป็นเลิศทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกหลักในการผลักดันให้อนุภูมิภาคมีความเข้มแข็งจากภายในและเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการใช้การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และประเทศไทยบวกหนึ่ง
พร้อมกันนี้ ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำและความเชื่อมโยง ซึ่งไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ ๒ ในต้นปี ๒๕๖๑ และในฐานะประธาน ACMECS วาระปัจจุบัน ไทยกำลังผลักดันการจัดทำแผนแม่บท ACMECS ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค ทั้งนี้ แผนแม่บท ACMECS และปฏิญญากรุงเทพ จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมในอีก ๖ เดือนข้างหน้า โดยจะเกื้อหนุนกรอบแม่โขง – ล้านช้าง และเป็นตัวเชื่อมประเทศลุ่มน้ำโขงเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ในการประชุมฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงทิศทางของความร่วมมือในอนาคต โดยไทยเล็งเห็นความสำคัญของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งไทยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ตั้งแต่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เมื่อปี ๒๕๕๘ และได้ร่วมการเจรจาภายใต้คณะทำงาน ๖ คณะ โดยให้ความสำคัญในลำดับต้นกับความร่วมมือด้านน้ำ ความเชื่อมโยง และการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดน ไทยประสงค์จะให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงประเทศลุ่มน้ำโขงเข้ากับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยร่วมมือกันหาแนวทางในการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) แผนปฏิบัติการระยะ ๕ ปี กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) ซึ่งจะกำหนดแนวทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือในระยะ ๕ ปีข้างหน้า และ (๒) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่จะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งกำหนดแผนงานที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการระยะ ๕ ปี
ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายกรัฐมนตรีจีนด้วย
อนึ่ง กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกรอบความร่วมมือที่เกิดจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี ๒๕๕๕ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง