การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ธ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 2,801 view
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ (3rd Mekong-Lanchang Foreign Ministers’ Meeting) ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายหวาง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และนายปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เป็นประธานร่วม
 
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ มีกำหนดจะ (๑) ทบทวนการดำเนินงานและกิจกรรมของประเทศสมาชิกนับตั้งแต่การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ รวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ และ ๒ ที่ผ่านมา (๒) หารือทิศทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ MLC ในอนาคต โดยจะพิจารณาแผนปฏิบัติการ ๕ ปี กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) ซึ่งเป็นแผนงานสำหรับการดำเนินงานในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ที่คลอบคลุมสาขาหลัก ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสังคม วัฒนธรรมและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และรับทราบผลการประชุม ๕ สาขา ของ ๖ คณะทำงาน ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ศักยภาพในการผลิต การขจัดความยากจน และการเกษตร (๓) เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ MLC ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ ที่กรุงพนมเปญ
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะรับทราบการประกาศอนุมัติโครงการที่เสนอขอใช้งบประมาณจากกองทุนพิเศษ (MLC Special Fund) โดยไทยได้รับอนุมัติจำนวน ๕ โครงการ ซึ่งเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจการค้าและการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการประชุมฯ จะมีนิทรรศการภาพถ่ายกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งจะสะท้อนถึงความก้าวหน้าในกรอบความร่วมมือ MLC นับตั้งแต่ได้มีการจัดการประชุมครั้งแรกในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเมื่อปี ๒๕๕๘
 
การเข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นการแสดงบทบาทนำของไทยซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้มีความร่วมมือและเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมือในกรอบแม่โขง-ล้านช้าง ได้เน้นการดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมการดำเนินการที่มีอยู่แล้วในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. ๒๐๓๐