เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายนิกรเดช พลางกูร รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานของไทย ๑๑ หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างและมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๐ ณ เวียงจันทน์ โดยมีนาย Jeffrey Graham รักษาการผู้อำนวยการกองพหุภาคี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วมกับนาย Virasac Somphong รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน และมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Lower Mekong – FLM) ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมนี ADB และธนาคารโลก เข้าร่วม
ที่ประชุมได้หารือเรื่องการจัดระเบียบโครงสร้างสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบ LMI และการหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน รวมทั้งทบทวนเป้าหมายการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ค.ศ. ๒๐๑๖ - ๒๐๒๐ ในสาขาความร่วมมือทั้ง ๖ สาขา ได้แก่ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ความเชื่อมโยง การศึกษา ความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและน้ำ และสาธารณสุข นอกจากนี้ มีการประชุมเกี่ยวกับโครงการ Mekong Water Data Initiative ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับรองในที่ประชุมรัฐมนตรี LMI เมื่อเดือน สิงหาคม ๒๕๖๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงการสำหรับการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงทั้งจากแหล่งข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถของอนุภูมิภาคในการตัดสินใจด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เป็นประธานร่วมกับสหรัฐฯ ในการประชุมสาขาความมั่นคงด้านพลังงาน และได้นำเสนอประเด็นเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานการประชุมสุดยอด ACMECS ได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดระเบียบสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ในกรอบอนุภูมิภาค โดยคำนึงถึงความท้าทาย ข้อริเริ่มใหม่ ๆ ที่ได้รับการเสนอในภูมิภาค เช่น ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative ของจีน และข้อริเริ่ม "Free and Open Indo-Pacific Strategy” ของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นข้อเสนอของสหรัฐฯ ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๒ เพื่อส่งเสริมบทบาทในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (strategic rebalancing) ตามนโยบาย re-engagement กับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค