นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๑

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,238 view
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุม
สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๑ ช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (Philippines International Convention Center – PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งกำหนดนโยบายและทิศทางอนาคตของประชาคมอาเซียน
 
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นอีกครั้ง รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบในปีที่อาเซียนครบรอบ ๕๐ ปี และเห็นว่าอาเซียนจะยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า โดยยึดหลักการและแนวทางสำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
 
หนึ่ง การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง เน้นนวัตกรรม และยึดมั่นกติกา ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ ๖ ของโลก และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ จะมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ ๔ ของโลก หากอาเซียนสามารถนำความตกลงโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมาปฏิบัติตามเป้าหมายอย่างครบถ้วน และนำนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน ในเวลาเดียวกันการสร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ ในการนี้ สิ่งที่อาเซียนควรเร่งดำเนินการ คือ (๑) การแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการกับสภาวะแคระแกร็น (๒) การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย (๓) การบริหารจัดการด้านการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติในภูมิภาค และ (๔) การต่อต้านปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
 
สอง ควรมองความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนให้เป็นมากกว่าเครือข่ายการขนส่งในอาเซียน แต่เป็นการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และโลกอย่างเป็นระบบ ผ่านเครือข่ายตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน ในการนี้ ไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนผ่านรูปแบบความร่วมมือประเทศไทย + 1 ที่สามารถขยายและเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคได้อย่างเป็นระบบ 
 
สาม การปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะการเสริมสร้างและรักษาความเข้มแข็งของแกนกลางอาเซียน (ASEAN Centrality) ภายในสถาปัตยกรรมภูมิภาคในโลกที่มีพลวัตและความท้าทายรอบด้าน อาเซียนควรจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมั่นในระบบภูมิภาคนิยม และเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในระบบพหุภาคีนิยม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามภายนอกภูมิภาคที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี  ปัญหาการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง และประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ของโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ และความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่อาเซียนได้มีส่วนร่วมบรรเทาสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management – AHA) และเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ควรที่จะยึดติดกับอดีต หากแต่ควรมองไปสู่อนาคตของอาเซียนร่วมกันในอีก ๒๐ – ๕๐ ปี ข้างหน้า โดยเฉพาะช่วงหลังวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ เพื่อวางแผนรับมือกับวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อาเซียนควรเริ่มศึกษาแนวคิดของกรอบความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพและอำนาจต่อรองของอาเซียนในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง ในเวลาเดียวกัน โดยที่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย มีความเชื่อมโยงกัน และมีความท้าทายต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว อาเซียนจำเป็นต้องพัฒนากรอบความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าวอย่างมีวิสัยทัศน์ จึงเห็นว่าอาเซียนควรเริ่มพัฒนาแนวความคิดความร่วมมือในพื้นที่อินโด – แปซิฟิก ที่จะเกื้อกูลกับกรอบความร่วมมือสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ที่เน้นประเด็นด้านเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ และความสมดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ในระยะยาว
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ