นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) และการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเอเปคและอาเซียน

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) และการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเอเปคและอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,144 view

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงนครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๕ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจแรกของนายกรัฐมนตรีคือการเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงาน ABAC ต่อผู้นำ ซึ่งเน้นการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) การเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล การเคลื่อนย้ายแรงงาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการหารือกลุ่มย่อยร่วมกับผู้นำจากชิลี ปาปัวนิวกินี และรัสเซีย โดยหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชน เช่น การส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การดำเนินการของเอเปคไปสู่ปี ๒๕๖๓ และอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน มีนวัตกรรม และครอบคลุม ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุน SMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล รวมถึงปรับตัวให้เท่าทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ โครงการ SME Transformation Loan การฝึกอบรมทักษะสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) รวมถึงโครงการพี่ช่วยน้อง Big brother เพื่อให้ธุรกิจชั้นนำที่ประสบความสำเร็จทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนให้ MSMEs เติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในโอกาสที่อาเซียนก่อตั้งครบรอบ ๕๐ ปีในปีนี้ เวียดนามได้เชิญสมาชิกประเทศอาเซียนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ร่วมหารือกับผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ภายใต้หัวข้อ “การร่วมมือกันเพื่อสร้างพลวัตใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่บูรณาการและเชื่อมโยงในทุกมิติ (Partnering for New Dynamism for a Comprehensively Connected and Integrated Asia-Pacific) ไทยเห็นว่า เอเปคและอาเซียนเป็น “หุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์” และเสนอให้เอเปคและอาเซียนกระชับความร่วมมือกันในประเด็นต่าง ๆ  ได้แก่ ความเชื่อมโยงในทุกมิติ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ต่อยอดการเจรจา RCEP ไปสู่การจัดทำ FTAAP ในอนาคต การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือจะร่วมมือกับอาเซียนในการเสริมสร้างศักยภาพ SMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ

ในช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีและภริยาได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ ซึ่งประธานาธิบดีเวียดนามและภริยาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าร่วมการประชุม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ