วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๙ ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
เวียดนามในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๖๐ ได้กำหนดหัวข้อในการหารือ ประกอบด้วย (๑) สถานการณ์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก และบทบาทนำของเอเปค (๒) พลวัตใหม่เพื่อการเติบโต และ (๓) พลวัตใหม่เพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับบทบาทของเอเปคในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยไทยเห็นว่า เอเปคควรเป็นผู้นำในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ เอเปคควรเป็นเวทีในการส่งเสริมขีดความสามารถ และเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิดเพื่อส่งเสริมการพัฒนา
ที่ประชุมได้สนับสนุนวาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม (Action Agenda on Advancing Economic, Financial and Social Inclusion) ซึ่งเสนอโดยเวียดนาม โดยไทยเห็นว่าการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกเพศทุกวัย และเห็นว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนา
เอเปคได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงได้จัดทำกรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (APEC Framework on Human Resources Development in the Digital Age) และส่งเสริมให้สมาชิกเอเปคนำยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของเอเปค (APEC Education Strategy) มาปฏิบัติ ซึ่งไทยก็ได้นำการดำเนินงานของเอเปคมาปรับใช้โดยมุ่งเน้นสเต็มศึกษา (STEM Education) อาชีวศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานเพื่อรองรับความต้องการในยุคทศวรรษที่ ๒๑
การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความชื่นชมเอเปคที่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับกรอบการทำงานของโครงการเอเปคแบบหลายปีต่อเนื่องด้านความมั่นคงอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Food Security and Climate Change Multi-Year Action Plan) ปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓ และแผนปฏิบัติการสำหรับกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบท-เขตเมือง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Action Plan on Rural-Urban Development to Strengthen Food Security and Quality Growth) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของเอเปคที่จะนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) โดยได้รับรองยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริม MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งริเริ่มโดยไทยและเปรู เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมเอเปค
พร้อมนี้ ในโอกาสที่การบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของสมาชิกเอเปค ที่เรียกว่า เป้าหมายโบกอร์ ที่กำหนดไว้ในปี ๒๕๖๓ ใกล้จะมาถึง เอเปคจึงควรร่วมกันกำหนดทิศทางในอนาคต โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเปค (APEC Vision Group) ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมกับอีก ๕ ประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ในช่วงปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๕ ทำหน้าที่เป็นคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM Steering Group) ในเรื่องนี้ ซึ่งไทยหวังว่า วิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี ๒๕๖๓ จะมองไปข้างหน้า ครอบคลุม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ผ่านการหารือกับหลายภาคส่วน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **