การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานกรอบความร่วมมือเอเชีย

การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานกรอบความร่วมมือเอเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 1,961 view
ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Workshop on Energy) ภายใต้หัวข้อ “ACD Energy Action Plan: Towards Global Energy Challenges” ณ โรงแรมแชงกรีล่า โดยการประชุมดังกล่าวจัดต่อจากการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีพลังงานเอเชียครั้งที่ ๗ (7th Asian Ministerial Energy Roundtable-AMER) ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑ – ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพ 
 
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานกว่า ๕๐  คน จากประเทศสมาชิก ACD อาทิ บาห์เรน บรูไน จีน อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โดยจะมีผู้เข้าร่วมจากองค์การระหว่างประเทศด้านพลังงาน อาทิ ERIA และ IEF และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ (๑) “Asian Energy Connectivity” โดยผู้แทนจากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA)  (๒) “Sustainable Development Goal 7” โดยผู้แทนจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) (๓) “What can the Belt & Road Initiative Contribute to Facing ACD Energy Challenges” โดยผู้แทนจาก China Electric Power Planning and Engineer Institute (๔) “Thailand’s Energy Strategic Directions towards the Global Energy Transition” โดยกระทรวงพลังงาน และ (๕) “ACD Energy Action Plan: Towards Global Energy Challenges” โดยกระทรวงการต่างประเทศ
 
ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงด้านพลังงานและการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้สามารถใช้จุดแข็งของภูมิภาค ACD ในด้านพลังงาน ที่มีทรัพยากรซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่า ควรร่วมมือกันมากกว่าการแบ่งปันข้อมูล แต่ต้องมุ่งเน้นการหาแนวทางเพื่อนำนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง ทั้งนี้ ที่ประชุมตระหนักว่า มีหลายปัจจัยที่จะต้องดำเนินการต่อไปให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความสอดคล้องทางเทคโนโลยีและกฎระเบียบ เพื่อรับประกันว่าจุดแข็งเหล่านี้จะนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่ทั่วถึงและยั่งยืนของ ACD 
 
การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมภายใต้สาขาพลังงาน และนับเป็นกิจกรรมแรกของไทยหลังจากที่ได้ประกาศตัวเป็นประเทศผู้ร่วมขับเคลื่อนในสาขาพลังงานภายใต้กรอบ ACD ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา และเป็นความพยายามของสำนักเลขาธิการ ACD ที่จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับกรอบความร่วมมือและองค์กรต่างประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ คือ AMER อีกด้วยโดยการประชุมฯ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน ACD ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ ๗ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” และแนวทางตามข้อตกลงปารีสซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี