ไทยย้ำความมุ่งมั่นต่อต้านการประมง IUU ในการประชุมมหาสมุทรโลก

ไทยย้ำความมุ่งมั่นต่อต้านการประมง IUU ในการประชุมมหาสมุทรโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ต.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 2,281 view
  เมื่อวันที่ ๕ - ๖ ตุลาคม ๑๒๖๐ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมการประชุมมหาสมุทรโลก หรือ Our Ocean Conference 2017 ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐมอลตา มีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมจากกว่า ๖๐ ประเทศทั่วโลก รวมถึงจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชน  โดยผู้แทนรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ประกาศคำมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมหาสุมทรกว่า ๔๐๐ คำมั่น คิดเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า ๖ พันล้านยูโร 
 
  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการปฎิรูปภาคการประมงและการจัดการแรงงานภาคการประมงในทุกมิติ เพื่อเป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานประมง  ตลอดจนได้กล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับการประมงของไทย การปฏิรูประบบการจัดการกองเรือ การพัฒนาระบบการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง และระบบการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยปลอดจากสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยมีเป้าหมายไม่เพียงเพื่อการขจัดการประมงผิดกฎหมาย แต่เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร  นอกจากนี้ ไทยยังได้กำหนดเป้าหมายในการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งให้ได้ร้อยละ ๑๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ตลอดจนการจัดทำแผนระยะยาวเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล โดยพร้อมร่วมมือกับนานาชาติและทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์มหาสมุทรและปกป้องทรัพยากรทางทะเล 
 
  นอกจากนี้ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบหารือกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมกิจการทางทะเลและประมง โดยได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงการผลักดันการจัดทำนโยบายประมงร่วมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการต่อต้านการประมง IUU ซึ่งนายเวลลา ได้แสดงความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายของไทย โดยพร้อมให้การสนับสนุนและเห็นว่าไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรปในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายและการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนได้
* * * * *
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐