การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “South-East Asian Workshop on Global Challenges to Successful Implementation of UN Security Council Resolution 1540 (2004), and Regional Efforts to Address Them”

การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “South-East Asian Workshop on Global Challenges to Successful Implementation of UN Security Council Resolution 1540 (2004), and Regional Efforts to Address Them”

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ต.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,569 view
           เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเพื่อสันติภาพและการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Regional Centre for Peace and Disarmament in Asia and the Pacific: UNRCPD) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ภายใต้หัวข้อ “South-East Asian Workshop on Global Challenges to Successful Implementation of UN Security Council Resolution 1540 (2004), and Regional Efforts to Address Them” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (ESCAP) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน (เมียนมา มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม บรูไน และฟิลิปปินส์) รวมถึงติมอร์-เลสเต และหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง รวม ๑๕ หน่วยงาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วม
 
            การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ ๑๕๔๐ (ค.ศ. ๒๐๐๔) ซึ่งมุ่งป้องกันมิให้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction WMDs) เครื่องส่ง (WMD means of delivery) และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (WMD-related items) ตกอยู่ในครอบครองของตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (non-State actors) รวมถึงผู้ก่อการร้าย อีกทั้งการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) และอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention) โดยตลอดสองวันของการประชุมฯ ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสในการรับฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายกับวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ คือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญข้อมติฯ ที่ ๑๕๔๐ (1540 Committee Group of Experts) หน่วยสนับสนุนการปฏิบัติประจำอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention Implementation Support Unit BWC: ISU) สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disarmament Affairs: UNODA) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime UNODC) และสถาบันวิจัยอาชญากรรมและความยุติธรรมระหว่างภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ (United Nations Interregional Crime and Justice Research Institute: UNICRI)
  นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานภายใต้ข้อมติฯ ของตน รวมถึงหารือในประเด็นท้าทายต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างข้อมติฯ ที่ ๑๕๔๐ และกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคีที่เกี่ยวกับ WMDs และการต่อต้านการก่อการร้าย การส่งผ่านเทคโนโลยีซึ่งจับต้อง/ตรวจจับไม่ได้ (intangible technology transfers: ITT) การประสานงานและการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  
             ในส่วนของไทย นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้แทน กระทรวง     การต่างประเทศในการกล่าวเปิดการประชุมฯ และเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับภาพรวมการดำเนินการตามข้อมติฯ ที่ ๑๕๔๐ ของไทย โดยได้เน้นย้ำความพร้อมและความตั้งใจของไทยในการดำเนินการและความสำคัญของการมีกลไกประสานงานและการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ของข้อมติคณะมนตรีฯ ที่ ๑๕๔๐ ได้จริง นอกจากนี้ พลโทหม่อมเจ้า เฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้ร่วมเป็นวิทยากรและอภิปรายเกี่ยวกับอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีและการนำแนวทางดำเนินการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อการดำเนินการตามพันธกรณีข้อมติฯ ที่ ๑๕๔๐ และอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และวิทยากร ณ โรงแรม Amari Watergate ด้วย
 
* * * * *
๒ ตุลาคม ๒๕๖๐