การลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

การลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 2,078 view
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
 
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นกรอบบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนอาชีวศึกษาไทยให้เทียบเท่าสากล และยกระดับคุณภาพบุคลากรสายอาชีวศึกษาให้สามารถรองรับการพัฒนา อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ รวมทั้งช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
 
ทั้งสองฝ่ายมีแนวทางความร่วมมือภายใต้กรอบบูรณาการการทำงาน ประกอบด้วย (๑) แสวงหาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิจัยและนำมาประยุกต์และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาของไทย (๒) แสวงหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาทวิภาคีและหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาที่ต้องการ (๓) จัดส่งครูและบุคลากรอาชีวศึกษาไปศึกษา/ฝึกอบรม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในสถานศึกษาต่างประเทศ (๔) แสวงหาทุนการศึกษา/ฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ และนักเรียนสายวิชาชีพกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ และ (๕) แสวงหาความร่วมมือเพื่อส่งนักเรียน/นักศึกษาไปศึกษา/ฝึกอบรม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในสถานประกอบการในต่างประเทศ
 
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ จะนำไปสู่โครงการและกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อพัฒนาครูอาชีวะจำนวน ๕๐๐ คน พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาจำนวน ๑๐ หลักสูตร สถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC ที่มีการเรียนการสอนแบบอาชีวศึกษาทวิภาคีเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗๐ และมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน ๓,๐๐๐ คน รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาใน EEC รวม ๖ แห่ง
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ