สรุปถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๒ ณ นครนิวยอร์ก

สรุปถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๒ ณ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 2,452 view
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๒ ณ นครนิวยอร์ก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
๑. แสดงความเสียใจและความห่วงใยต่อประชาชนผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เฮอริเคนในหมู่เกาะแคริบเบียนและผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเม็กซิโก
 
๒. ประเทศไทยเห็นพ้องกับเลขาธิการสหประชาชาติว่าเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น โดย สหประชาชาติควรเน้นการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง  และเป็นที่น่าพอใจที่ผู้นำต่างให้ความสำคัญกับประชาชนในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้ โดยเชื่อว่า ความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของประชาชน 
 
๓. ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประชาชนมาเป็นเวลานาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรทรงให้ฟังและเรียนรู้จากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นผู้ที่เข้าใจสถานการณ์และความต้องการของตนเองมากที่สุด แนวทางการพัฒนาจึงต้องสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป  ทั้งนี้ พระองค์ทรงวางรากฐานของการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ
 
๔. รัฐบาลมุ่งหมายให้ประชาชนและประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายระดับชาติของไทย ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ล้วนให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นลำดับแรก โดยไทยให้ความสำคัญต่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็เน้นการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคน และมุ่งสู่นโยบายประเทศไทย ๔.๐ ซึ่งต้องอาศัยสติปัญญาของมนุษย์มากเสียยิ่งกว่าเทคโนโลยีขั้นสูง
 
๕. ไทยมีตัวอย่างการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับประชาชน อาทิ (๑) ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชาชนร้อยละ ๙๙.๘๗ และช่วยป้องกันความยากจนในกว่าหนึ่งแสนครัวเรือน  ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นประธานของเครือข่าย “นโยบายการต่างประเทศและสุขภาพโลก” (Foreign Policy and Global Health Initiative) จะนำเสนอร่างข้อมติเพื่อกำหนดให้วันที่ ๑๒ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก (๒) ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๓ โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ องค์กรอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นประเทศที่สองในโลกที่สามารถกำจัดการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้
 
๖. ในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ กำลังประสบความท้าทายร่วมกัน รวมถึงภัยคุกคามจากนิวเคลียร์  โดยเมื่อสองวันที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ นอกจากนี้ ไทยยังมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งร่วมกับประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยขอให้ทุกฝ่ายหาทางออกโดยสันติและปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ  และไทยยังห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยเข้าใจดีว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้วิธีแก้ไขในระยะยาวเพื่อให้เกิดทั้งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กันไป 
 
๗. เราต้องสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทุกคนต้องรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมและความคิดเห็นของทุกคนได้รับการเคารพ เราต้องเสริมพลังของกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในสังคม อาทิ คนยากจน สตรี เด็ก คนพิการ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต้องเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของบุคคลกลุ่มนี้ และต้องมีการคุ้มครองทางกฎหมายและความยุติธรรม 
 
๘. ไทยขอฝาก ๓ ประเด็นสำคัญต่อที่ประชุมแห่งนี้  
 
ประการแรก ระบบพหุภาคีและสหประชาชาติมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยสหประชาชาติต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความคาดหวังในปัจจุบัน และต้องสนองตอบต่อความต้องการและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ โดยต้องมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ นอกจากนี้ ไทยคาดหวังที่จะรับรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิรูป UN Development System ว่าจะสามารถก่อความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่และจะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการประจำภูมิภาคต่าง ๆ และ  UN Country Team ได้อย่างไร และไทยให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาควิชากร และภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มที่มีบทบาทด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีศักยภาพในการผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
ประการสอง เราต้องต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่แตกต่างกันของทุกคน โดยเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ชุมชน โดยสร้างวัฒนธรรมของการเป็นหุ้นส่วนที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน โดยไทยได้ริเริ่มโครงการ “SEP for SDGs Partnership” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยส่งเสริมความร่วมมือแบบใต้ - ใต้ รวมถึงได้สนับสนุนการตั้งสำนักงาน UN Office for the South-South Cooperation for Asia and the Pacific ขึ้นอีกครั้งในไทย
 
ประการที่สาม การให้ความสำคัญกับประชาชนไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการปรับปัจจัยภายนอก หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชน โดยต้องรับฟังความคิดของเด็กและทำให้เด็กเติบโตมาเป็นพลเมืองของโลกที่มี global mindset  ทั้งนี้ ทุกคนสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (agent of change) โดยบทบาทของรัฐบาลคือการสนับสนุนประชาชน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง