ประเทศไทยและสาธารณรัฐเปรูผลักดันยุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม ภายใต้กรอบเอเปค

ประเทศไทยและสาธารณรัฐเปรูผลักดันยุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม ภายใต้กรอบเอเปค

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,967 view
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐ ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้าน SME ครั้งที่ ๒๔ ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้รับรองยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประเทศไทยและสาธารณรัฐเปรู
 
ยุทธศาสตร์นี้ สนับสนุนให้สมาชิกเอเปคสร้างความตระหนักรู้และศักยภาพ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในภูมิภาคเอเปคสามารถดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรู้จักใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดสากล รวมถึงส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานสีเขียว เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดแนวทางความร่วมมือภาครัฐ – เอกชน 
 
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ระบุธุรกิจนำร่อง ๕ สาขา ได้แก่ (๑) พลังงานชีวมวลและพลังงานทดแทน (๒) ธุรกิจก่อสร้างและอาคารสีเขียว (๓) อุตสาหกรรมอาหาร (๔) ภาคการท่องเที่ยว และ (๕) สิ่งทอ ซึ่งไทยเสนอเป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาอาหาร และพร้อมที่จะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ และเสนอให้มีการประเมินความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๖๕  ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปค
 
กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกับสาธารณรัฐเปรู ผลักดันข้อเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวในเวทีเอเปคตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ซึ่งนับเป็นผลงานสำคัญของไทยในกรอบเอเปคที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมถึงนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายในปี ๒๕๗๓ โดยไทยหวังว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้รับการรับรองโดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในเดือนพฤศจิกายนศกนี้