กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนให้นายพิเชษฐ์ ปานดำ ผู้แทนชุมชนบ้านบางลา จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมพิธีมอบรางวัล Equator Prize ประจำปี ๒๕๖๐ และร่วมกิจกรรมในช่วง Equator Week ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๒ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนศักยภาพของชุมชนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๐ นายพิเชษฐ์ ปานดำ ได้เป็นผู้แทนกลุ่มฯ เข้ารับรางวัล Equator Prize ประจำปี ๒๕๖๐ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ จาก Equator Initiative ที่ Town Hall Theatre นครนิวยอร์ก โดยมีอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ก เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ต่อมาในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐ ผู้แทนชุมชนบ้านบางลา และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศได้เข้าร่วมกิจกรรม Equator Prize 2017 Winners @SDG Media Zone ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยเป็นผู้อภิปรายร่วมกับผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน คาซัคสถาน มาลี เคนยา และเอกวาดอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้นำเสนอการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติและสื่อมวลชน
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านบางลา จังหวัดภูเก็ต ได้รับการคัดเลือกจาก Equator Initiative ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้เป็น ๑ ใน ๑๕ ชุมชนทั่วโลกที่ได้รับรางวัล Equator Prize ประจำปี ๒๕๖๐ จากผู้เสนอผลงานส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เข้ารับการคัดเลือกภายใต้ ๓ หัวข้อ คือ ป่า ทะเล และพื้นดินและทุ่งหญ้า/สัตว์ป่า รวมทั้งหมด ๘๐๖ กลุ่ม โดยชุมชนบ้านบางลาได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าชายเลนที่ช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิต่อชุมชน เมื่อปี ๒๕๔๗ จึงได้รวมกลุ่มเพื่อต่อต้านการขยายตัวของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับกลางในเมืองเข้าไปในที่ดินสาธารณะ ต่อมา ได้มีการทำข้อตกลงกับหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตเพื่อจัดตั้งเขตรักษาป่าชายเลนที่มีการจัดการโดยชุมชนขนาด ๑,๒๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนชายเลนคลองท่าเรือ โดยในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา สามารถทำให้นากทะเลท้องถิ่นของภูเก็ตกลับมาอาศัยในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ชุมชนบ้านบางลายังได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการสนับสนุนการออมและการปล่อยสินเชื่อรายย่อย (microcredit) เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนอีกด้วย
Equator Initiative จัดพิธีมอบรางวัล Equator Prize เป็นประจำทุก ๒ ปี เพื่อมอบรางวัลให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคเขตร้อนที่มีผลงานโดดเด่นในการลดความยากจนผ่านกระบวนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านบางลา เป็นชุมชนไทยกลุ่มที่ ๓ ที่ได้รับรางวัลนี้ ต่อจากชุมชนบ้านซับใต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี ๒๕๔๕ และกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ด จังหวัดตราด เมื่อปี ๒๕๔๗