เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Summit) ครั้งที่ ๒ ที่ฮ่องกง ตามคำเชิญของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกล่าวเปิดงาน และมีนายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน นางเกา เอี้ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ตลอดจนคณะผู้บริหารระดับสูงและผู้นำภาคเอกชนของฮ่องกง ผู้แทนรัฐบาลจีน รวมทั้งนักธุรกิจจากกว่า ๔๘ ประเทศรวม ๓,๔๐๐ คน เข้าร่วม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวในฐานะเป็นผู้อภิปรายลำดับแรกใน Session ที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ Investing in Belt and Road: Dialogue with Policymakers ร่วมกับนางสาวจุสตินา สไกร์ชิดวอ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานโปแลนด์ และนายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง โดยมีนางลอรา ชา ประธานสภาพัฒนาการให้บริการด้านการเงินของฮ่องกง (Financial Services Development Council of Hong Kong) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเน้นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮ่องกงในฐานะที่ฮ่องกงเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ จุดหมายการลงทุนและประตูสู่จีน โดยฝ่ายไทยหวังที่จะเห็นฮ่องกงเปิดสำนักงานผู้แทนฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office – HKETO) ที่ประเทศไทย และได้ย้ำความพร้อมของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนกับฮ่องกงภายใต้ความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) โดยเห็นว่าฮ่องกงสามารถมีบทบาทเป็น “หัวเข็มขัด” (buckle) เชื่อมต่อ BRI ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ในช่วงการประชุมสุดยอด BRICS ที่เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับความร่วมมือทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และพลังงาน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ให้เห็นถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคที่จะมีการลงทุนอย่างมหาศาลในช่วง ๕ – ๑๐ ปีข้างหน้า โดยกล่าวถึงแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยรวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) และการดำเนินการในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งประธานในขณะนี้ และกำลังร่วมกับประเทศสมาชิกจัดทำร่างแผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) ที่จะเน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และในกรอบอาเซียนภายใต้ Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 ซึ่งจะเชื่อมโยงได้กับ BRI โดยฮ่องกงซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้านการเงินและโลจิสติกส์สามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนได้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ประเทศในกรอบความร่วมมือของสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) และกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ก็จะมีการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มของความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกต่อไปในอนาคต
ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมอภิปราย รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง โดยได้หารือในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง HKETO ที่ประเทศไทย และประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่ายสืบเนื่องจากการเยือนไทยของนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ ๓ – ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ด้วย