เมื่อวันที่ ๔ – ๕ กันยายน ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries หรือ EMDCD) ในช่วงการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ ๙ ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน โดยในครั้งนี้ นอกจากสมาชิก BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้) จีนเชิญประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน ๕ ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ เม็กซิโก ทาจิกิสถาน กินี และไทย เข้าร่วมการประชุมในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพ โดยในส่วนของไทย จีนให้เหตุผลในการเชิญว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ดีกับจีน
ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุม EMDCD เห็นพ้องกันว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเปรียบเสมือนเครื่องจักรกลสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธรรม เปิดกว้าง รอบด้าน และมีนวัตกรรมนำทาง โดยให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือใต้ – ใต้ และให้การอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับชาติ การสร้างความเชื่อมโยง การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา และการปฏิรูปธรรมาภิบาลระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งให้สหประชาชาติเป็นองค์กรหลักในด้านการพัฒนา และให้องค์การการค้าโลกเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน
นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม EMDCD ว่า BRICS และ EMDC สามารถร่วมกันสร้าง “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่ส่งเสริมกันและกันได้ โดยไทยให้ความสำคัญกับ ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งดำเนินนโยบาย “ประเทศไทย + ๑” เพื่อขยายผลของการลงทุนและความร่วมมือไปยังเพื่อนบ้าน (๒) การสร้างความเชื่อมโยงรอบด้านในทุกมิติ ทั้งทางโครงสร้างพื้นฐาน ประชาชน และดิจิทัล จะช่วยขยายโอกาสการคมนาคม การเข้าถึงการศึกษาและธุรกิจ กระจายความเจริญและรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไทยสามารถใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชื่อมโยงอาเซียนกับภูมิภาคอื่น ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และบูรณาการแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียนและกรอบภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งเกื้อกูลต่อความริเริ่มความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ นโยบายรุกตะวันออกของอินเดียและข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เช่น ความร่วมมือรถไฟไทย – จีนจะมีส่วนช่วยเชื่อมต่ออาเซียนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และรับกันกับวิสัยทัศน์เพื่อการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ค.ศ. ๒๐๓๐ (๓) การคำนึงถึงความยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และ (๔) การคำนึงถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้รับและผู้มีส่วนร่วมในความร่วมมือ ทั้งความร่วมมือเหนือ – ใต้ ใต้ – ใต้ และไตรภาคี
นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้แก่ (๑) นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (๒) นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (๓) นายเอมอมาลี เราะห์มาน ประธานาธิบดีทาจิกิสถาน และได้พบปะสนทนากับ (๔) นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย (๕) นายมิเชล เตเมร์ ประธานาธิบดีบราซิล (๖) นายเอนริเก เปนญา นิเอโต ประธานาธิบดีเม็กซิโก และ (๗) นายอาลฟา กงเดประธานาธิบดีกินี (๘) นายอับดุล ฟัตตาห์ อัสซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์ และ (๙) นายเจคอบ ซูมา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน
อนึ่ง การประชุม EMDCD จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมเพื่อการพัฒนาร่วมกัน” (Strengthening Mutually – Beneficial Cooperation for Common Development) โดยประเด็นหลักที่จีนให้ความสำคัญมี ๒ เรื่อง ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการปฏิบัติการเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๗๓) และ (๒) การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือใต้ – ใต้
การเข้าร่วมการประชุม EMDCD ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มิตรประเทศมีต่อไทยและบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีจีนได้กล่าวชื่นชมบทบาทไทยในการส่งเสริมความร่วมมือใต้ – ใต้ โดยเฉพาะในช่วงของการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ เมื่อปี ๒๕๕๙ และในอนาคตที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน อีกทั้งยังได้กล่าวขอบคุณไทยที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) จะเกื้อกูลนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน