คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี (๘ นาที) การประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๐ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี (๘ นาที) การประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๐ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,967 view

ท่านประธานาธิบดีสี

ท่านผู้นำทุกท่าน

1. ไทยถือเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างกลุ่ม BRICS และ EMDC ในวันนี้ และขอขอบคุณจีนที่เชิญไทยเข้าร่วม ซี่งเป็นการยืนยันบทบาทของจีนอีกครั้งในฐานะสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างกลุ่มประเทศ ต่อจากปีที่แล้วที่จีนเป็นประธานกลุ่ม ๒๐ และเชิญไทย ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ จึงนับเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งที่ไทยจะได้มาร่วมในฐานะเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่าง BRICS กับอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนา เพราะเราจำเป็นต้องหันหน้ามาร่วมมือกันในช่วงเวลาสำคัญที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนและท้าทายรอบด้าน เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ๒๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๗๓) โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

2. กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบพหุภาคีนิยม (Multilateralism) และภูมิภาคนิยม (Regionalism) แต่ไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศมีนโยบายที่สอดคล้องกันในการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หุ้นส่วนภูมิภาคยูเรเชียของรัสเซีย (Greater Eurasian Partnership) นโยบายรุกตะวันออกของอินเดีย  (Act East) วาระ ปี ค.ศ. ๒๐๖๓ (พ.ศ. ๒๖๐๖) ของสหภาพแอฟริกา (African Union Agenda 2063) ยุทธศาสตร์การนำวาระ ค.ศ. ๒๐๓๐ สู่การปฏิบัติในประเทศและท้องถิ่นของบราซิล (Strategies for the Internalization and Localization of the 2030 Agenda) และวิสัยทัศน์ ค.ศ. ๒๐๓๐ ของอียิปต์ (Egypt Vision 2030)

3.  หากพิจารณาศักยภาพทางเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS และพวกเรารวม ๑๐ ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกว่าร้อยละ ๔๖ ของโลก สัดส่วน GDP รวมกว่าร้อยละ ๓๐ ของโลก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่าร้อยละ ๔๖ ของโลก เราอยู่ในฐานะที่จะร่วมกันสร้างโลกที่เปิดกว้าง  เป็นธรรม และ มีพื้นที่สำหรับทุกคนที่จะเติบโตด้วยกันได้ ผมจึงเชื่อมั่นเช่นทุกท่านว่า พวกเราสามารถสร้าง หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ โดยการดึงศักยภาพ ความหลากหลาย (diversity) และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญ เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสันติภาพของภูมิภาคและโลก

4. ในการนี้ ผมขอเสนอมุมมองใน ๔ ประเด็น ดังนี้

5. ประเด็นที่หนึ่ง การพัฒนาต้องเริ่มจากการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในควบคู่ไปกับการเติบโตไปพร้อมกันของเพื่อนบ้านรอบข้าง กุญแจความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ ๙ ที่ให้ความสำคัญกับทางสายกลาง ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง พร้อมมีความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ ช่วงปีที่แล้ว ขณะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับประเทศสมาชิกกลุ่มฯ และพร้อมร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อร่วมกันช่วยเหลือประเทศที่สาม ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านกลไกประชารัฐ (Public, Private and People Partnership)

6. ขณะเดียวกัน ไทยเชื่อว่า เราต้องเจริญเติบโตไปด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคอาเซียน และประชาคมโลก จึงมีแนวทาง “ประเทศไทย + ๑” เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนและความร่วมมือกับต่างประเทศขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของแต่ละประเทศมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

7. ประเด็นที่สอง การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้านในทุกมิติมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน จะช่วยขยายโอกาสการคมนาคม ติดต่อสื่อสารการเข้าถึงการศึกษาและธุรกิจ ตลอดจนกระจายความเจริญและรายได้ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

8. ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคและอาเซียน ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้านทุกมิติเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Act East ของอินเดีย ตลอดจนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การผลักดันแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียนและอื่น ๆ เช่น ACMECS IORA ACD ซึ่งเกื้อกูลข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และจะนำมาซึ่งความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งในเอเชียและไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ตัวอย่าง เช่น โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเชื่อมต่ออาเซียนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งจะรับกันได้ดีกับวิสัยทัศน์เพื่อความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียนจีน ค.ศ. ๒๐๓๐  

9. ความท้าทายสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ แหล่งเงินทุนที่ต่อเนื่อง จึงขอย้ำสิ่งที่ไทยเสนอ       ในการประชุมระหว่างผู้นำ BRICS กับ BIMSTEC เมื่อปีที่แล้วถึงความสำคัญของความร่วมมือและ              การทำงานร่วมกันของธนาคารเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank) ของกลุ่ม BRICS และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการให้กู้ยืมที่เอื้อต่อการเข้าถึงเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนา

10. ความเชื่อมโยงระดับประชาชน เป็นอีกมิติสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง ทำให้การรวมตัวราบรื่น นอกจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ผมขอเสนอให้ BRICS สร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาคน Smart Human Capital ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งอาชีวะศึกษา การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับเอกชน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทของตลาดและสังคมดิจิทัล ตลอดจน ด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนา และมีราคาที่เข้าถึงได้ (appropriate and affordable)

11. นอกจากนี้ BRICS ยังสามารถมีบทบาทนำในการเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ทั้งด้านการพัฒนากฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนให้ใกล้ชิดขึ้น และขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ ๙๐ ของธุรกิจในภูมิภาคผ่านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการเงินอื่น ๆ

12. ในช่วง ๕ ปีข้างหน้า ไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรอบความร่วมมือที่สำคัญ ๓ กรอบ ได้แก่ ACMECS (พ.ศ. ๒๕๖๑ / ค.ศ. ๒๐๑๘) ASEAN (พ.ศ. ๒๕๖๒ / ค.ศ. ๒๐๑๙) และ APEC (พ.ศ. ๒๕๖๕ / ค.ศ. ๒๐๒๒) ไทยพร้อมจะจับมือสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุกประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ ในการวางแผนและการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งจะเกื้อกูลต่อ การรวมตัวระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคอย่างแท้จริง

13. ประเด็นที่สาม หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย ผมจึงขอชื่นชมและสนับสนุนที่ BRICS มุ่งมั่นในการร่วมกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ด้วยการยืนยันเจตนารมณ์ต่อพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และร่วมมือกันในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดต่อไป

14. ประเด็นที่สี่ ทุกประเทศมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกัน การสร้างความเป็นหุ้นส่วนจึงต้องคำนึงถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้รับและผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นสำคัญ และควรใช้ประโยชน์จากช่องทางความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งความร่วมมือเหนือ-ใต้  ใต้-ใต้ และไตรภาคี ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่า ธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กลุ่ม BRICS ยึดถือ จะเป็นหลักประกันความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือให้ประสบผลสำเร็จ

ท่านผู้นำทุกท่าน

15. ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณกลุ่ม BRICS สำหรับบทบาทนำในการปฏิรูปธรรมาภิบาลของเศรษฐกิจโลก การผลักดันให้ผลจากโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นประโยชน์ เปิดกว้าง และเป็นธรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ดังสะท้อนอยู่ใน ๔ วาระหลักของการประชุม BRICS ปีนี้ ละหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่ม BRICS จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริงโดยจัดลำดับความสำคัญ (priority) ของกิจกรรมความร่วมมือเริ่มจากประเด็นที่ทำร่วมกันได้จริง โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน ประชาชน และดิจิทัล ตลอดจน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนา โดยมีการตั้งเป้าชัดเจนในแต่ละปี และมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมอันจะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อทุกภูมิภาคและโลกต่อไป

16. ขอบคุณครับ