พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมด้วยคณะผู้แทนไทย มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue – EMDCD) ในช่วงการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ ๙ ในวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๐ ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานกลุ่มประเทศ BRICS ประจำปี ๒๕๖๐ ได้เชิญประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีเอกลักษณ์และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน ๕ ประเทศ เข้าร่วมการประชุม EMDCD โดยในส่วนของไทย เป็นประเทศเดียวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม EMDCD โดยจีนให้เหตุผลที่เชิญไทยว่า ไทยเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญ โดยตระหนักถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ และผู้นำของทั้ง ๒ ประเทศมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีต่อกันและดำเนินมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่ม ๒๐ (G20 Summit) เมื่อปี ๒๕๕๙ ก็ได้เชิญไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ในขณะนั้น เข้าร่วมการประชุม G20 Summit ด้วย สำหรับอีก ๔ ประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วม ได้แก่ (๑) เม็กซิโก ในฐานะประเทศกลุ่ม ๒๐ และประเทศจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (๒) อียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง (๓) ทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และ (๔) กินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา (African Union - AU) และประเทศจากภูมิภาคแอฟริกา
การประชุม EMDCD กำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมเพื่อการพัฒนาร่วมกัน” (Strengthening Mutually-Beneficial Cooperation for Common Development) โดยที่ประชุมจะหารือร่วมกันใน ๒ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๗๓) และ (๒) การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือใต้-ใต้
การเข้าร่วมประชุม EMDCD ของนายกรัฐมนตรีจะเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้แสดงวิสัยทัศน์และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนการได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำจากกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสานต่อความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
อนึ่ง กลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับการจับตามองในฐานะที่เป็นประเทศมีศักยภาพและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยมีการประชุมร่วมระดับผู้นำครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙) ประกอบด้วยสมาชิก ๔ ประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ซึ่งต่อมา กลุ่มฯ ได้รับแอฟริกาใต้เข้าเป็นสมาชิกในปีถัดมา โดยขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นร้อยละ ๒๗ ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณร้อยละ ๔๒ ของประชากรโลก โดยกลุ่ม BRICS มีบทบาทในการผลักดันการมีส่วนร่วมของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในระบบเศรษฐกิจโลก และมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank - NDB) เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาสำหรับประเทศสมาชิก BRICS และการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน (Contingent Reserve Arrangement – CRA) ที่ทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินจากความผันผวนของสภาวะการเงินระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกกลุ่ม BRICS