รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Bali Process Government and Business Forum ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ นครเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Bali Process Government and Business Forum ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ นครเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ส.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 2,805 view

                    เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้กระบวนการบาหลี (Bali Process Government and Business Forum) ณ นครเพิร์ท เครือรัฐออสเตรเลีย โดยมีนางจูลี บิชอป รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย และนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วมภาครัฐร่วมกับประธานร่วมภาคธุรกิจ ได้แก่ นายแอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Fortescue Metals Group และมูลนิธิ Walk Free Foundation และนายเอ็ดดี้ ซาริอัดมัดจา ผู้ก่อตั้งบริษัท Elang Mahkota Teknolog (EMTEK)

           การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้แทนภาครัฐและธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ รวม ๒๙ ประเทศเข้าร่วมด้วย แบ่งเป็นผู้นำภาครัฐ ๒๓ คน และผู้นำภาคธุรกิจ ๑๘ คน โดยสำหรับปรเทศไทย ดร. แดเรียน แม็คเบน ผู้อำนวยการการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เข้าร่วมในฐานะผู้แทนภาคธุรกิจของไทย นอกจากนี้ ยังมีองค์การระหว่างประเทศ ๓ แห่ง ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การระหว่างประเทศที่มีสถานะผู้สังเกตการณ์ ๑ แห่ง ได้แก่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

                การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแรกในภูมิภาคที่ได้นำภาครัฐและภาคธุรกิจมาหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่การผลิต ผ่านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีของภาคธุรกิจและการพัฒนากฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของรัฐ ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่การสร้างความตื่นตัวแก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในการตรวจสอบกันเอง การจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและคุณธรรม (ethical recruitment) การประกันให้ไม่มีการจ้างงานผิดกฎหมายหรือมีสภาพการจ้างงานที่ละเมิดสิทธิแรงงาน และการรายงานของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตลอดห่วงโซ่การผลิต

                    ในช่วงการประชุมเต็มคณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผ่าน ๕ เสาหลัก หรือ 5P (Policy, Prosecution, Protection, Prevention และ Partnership) โดยผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ บันทึกสรุปของประธานร่วม (Co-Chairs’ Summary) และแผนการทำงานระยะ ๑๒ เดือนของภาคธุรกิจ ซึ่งประธานร่วมภาคธุรกิจจะนำเสนอการดำเนินการและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม Bali Process Government and Business Forum ครั้งที่ ๒ และการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี (Bali Process Ministerial Conference) ครั้งที่ ๗ ณ เกาะบาหลี ในปี ๒๕๖๐ ต่อไปด้วย

                     นอกจากนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการแนะนำทูตสำหรับแผนโคลัมโบฉบับใหม่ (New Colombo Plan – NCP) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มโดยนางบิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีจุดประสงค์ให้เยาวชนออสเตรเลียได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยไทยได้ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ จะมีนักศึกษาออสเตรเลียเข้าร่วมโครงการ NCP ในไทยรวม ๙๓๗ คน