โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน กับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร” ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน กับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร” ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,577 view

เมื่อวันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร” ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนจากทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดเข้าร่วมมากกว่า ๕๐ คน

ในช่วงพิธีเปิดการประชุม นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้ย้ำว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยสอดคล้องกับหลักศาสนาและค่านิยมที่ไทยมีอยู่และเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งความสุข ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในขณะที่ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ย้ำว่า การประชุมในวันนี้สะท้อนความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างสำเร็จของการบูรณาการเพื่อใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชนและประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และพลโท กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เห็นควรเสริมสร้างประชาคม/พันธมิตรสิทธิมนุษยชน โดยมีการบูรณาการที่ใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจและการดำเนินชีวิต รวมทั้งนำไปต่อยอดภายหลังการประชุม 

ตลอดการประชุม ๒ วัน ผู้เข้าร่วมมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชนและพัฒนาการของไทยในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง รวมทั้งกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) 

การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการย้ำเจตนารมณ์และความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างขีดความสามารถของการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานราชการและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ