วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ส.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนางเจิ่น เหงียต ทู (Tran Nguyet Thu) ภริยา ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ ตามคำเชิญของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
๒. คณะทางการของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประกอบด้วย (๑) นายมาย เตี่ยน สุง (Mai Tien Dung) รัฐมนตรีและประธานสำนักงานรัฐบาล (๒) นาย เจิ่น ต๊วง แองห์ (Tran Tuan Anh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (๓) นาย จู หง็อก แองห์ (Chu Ngoc Anh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม (๔) นายเหวียน ซวน เกื่อง (Nguyen Xuan Cuong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (๕) นายเจื่อง มิ่นห์ ต๊วง (Truong Minh Tuan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสารเวียดนาม และ (๖) นายเล มิงห์ ฮึง (Le Minh Hung) ประธานธนาคารแห่งชาติเวียดนาม รวมทั้งผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ของเวียดนาม
๓. ระหว่างการเยือนฯ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ และได้หารือข้อราชการกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานองคมนตรี พบกับนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนามและผู้นำของภาคธุรกิจของไทย และเข้าร่วมพิธีเปิดงาน “Vietnamese Week in Thailand” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสินค้าของเวียดนามในไทย อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเวียดนามและคณะได้เยือนจังหวัดนครพนมเพื่อเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานประธานาธิบดีโฮจิมินห์ พบกับชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในจังหวัดนครพนม และเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนและความเชื่อมโยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย
๔. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจและความตกลง ได้แก่ (๑) ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (๒) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกับกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (๓) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสารเวียดนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม สารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล (๔) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติเวียดนามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (๕) บันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดตราด ราชอาณาจักรไทย กับจังหวัดก่าเมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (๖) ความตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมด้านกฎหมายระหว่างกรรมาธิการด้านพลังงาน ในนามของหน่วยงานและในนามของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม และบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท วัตสัน ฟาร์ลี แอนด์ วิลเลียมส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (๗) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท ปิโตรเวียดนามก่าเมา เจเอสซี จำกัด บริษัท ปิโตรเวียดนามเฟอร์ทิไลเซอร์แอนด์เคมิคัล จำกัด และบริษัท บิ่งห์เซินรีไฟน์นิ่งแอนด์ปิโตรเคมิคัล จำกัด (มหาชน) กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (๘) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เวียดนามออยล์แอนด์แก๊ส จำกัด กับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (๙) บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เอสซีไอซี อินเวสเมนท์ จำกัด กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด และ (๑๐) ความตกลงเรื่องความร่วมมือในโครงการลงทุนพลังงานลมบักเลี่ยว - ก่าเมา ระหว่างบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด กับบริษัท กงลี จำกัด (มหาชน)
ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนาม
๕. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารืออย่างกว้างขวางต่อประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมทบทวนและแสดงความพอใจต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีกับความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม (ปี ค.ศ. ๒๐๑๔ – ๒๐๑๘) โดยเห็นพ้องให้ขยายความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
๖. ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเข้าใจร่วมกัน และผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายในทุกระดับและทุกสาขา
๗. นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนระดับสูงและการสานต่อความร่วมมือต่าง ๆ ผ่านกลไกทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง และเบื้องต้นได้เห็นพ้องจัดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ครั้งที่ ๔ ในช่วงต้นปี ๒๕๖๑ ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังจากการประชุมอื่น ๆ ได้แก่ (๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JCBC) ครั้งที่ ๓ (๒) การหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Ministers’ Retreat: FMR) ครั้งที่ ๓ และ (๓) การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ ๓ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับผลลัพธ์ของการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Politics and Security Cooperation: JWG on PSC) ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และการประชุมทวิภาคีอื่น ๆ ด้วย
เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่นคง
๘. ทั้งสองฝ่ายชื่นชมอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จของความร่วมมือทวิภาคีด้านกลาโหมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือกันต่อไปผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเจรจาเรื่องนโยบายด้านกลาโหม การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองด้านกลาโหม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการหารือกันอย่างสม่ำเสมอและประสานงานอย่างใกล้ชิดในประเด็นพหุภาคี โดยเฉพาะภายใต้กรอบอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับพันธมิตร
๙. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาคและของโลก โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และการฝึกอบรม โดยเห็นพ้องที่จะเพิ่มความพยายาม ความร่วมมือ และการประสานงานในทุกระดับเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การย้ายถิ่นโดยผิดกฎหมาย การลักลอบค้าอาวุธ การก่อการร้าย และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
๑๐. ทั้งสองฝ่ายย้ำความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่มีอยู่ และรักษาความถี่ของการประชุมตามกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกรอบอาเซียน เช่น AMMTC/SOMTC, ASOD, ASEANPOL, INTERPOL ต่อไป
๑๑. ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเจรจาสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางอาญา ทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและเวียดนามว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษา ปี ค.ศ. ๒๐๑๐
๑๒. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะไม่อนุญาตบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ใช้ดินแดนในประเทศของแต่ละฝ่าย เพื่อจัดกิจกรรมต่อต้านอีกฝ่าย
๑๓. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (Illegal, unreported and unregulated fishing – IUU) ของแต่ละประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความมั่นคงทางทะเล ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายชื่นชมการปฏิบัติการลาดตระเวนแบบประสานงานกันระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศ และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประสานงาน (Point of Contact) ระหว่างศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (THAI - MECC) กับหน่วยบัญชาการรักษาชายฝั่งเวียดนาม รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผ่านกลไกทวิภาคีต่าง ๆ รวมทั้งคณะทำงานร่วม เพื่อร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อข้อริเริ่มล่าสุดของเวียดนามในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ในการนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามยินดีต่อความช่วยเหลือของฝ่ายไทยในการแบ่งปันประสบการณ์การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายให้กับฝ่ายเวียดนาม
๑๔. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อการกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยบัญชาการรักษาชายฝั่งเวียดนามกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (THAI - MECC) และเห็นพ้องที่จะสรุปบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือด้านการเกษตร และบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งสายด่วนด้านการประมงในทะเลระหว่างสองประเทศ และสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จากกลไกและสายด่วนที่มีอยู่อย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาและหวังจะเห็นบทสรุปของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสายด่วนระหว่างคณะทำงานร่วมฝ่ายไทยเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย กับคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวง กลุ่ม ๖๘๙ ของเวียดนาม
ส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎหมายและด้านยุติธรรม
๑๕. สองฝ่ายยืนยันพันธกรณีในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขากฎหมายและระบบยุติธรรมโดยสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงยุติธรรมเวียดนามกับกระทรวงยุติธรรมไทย ลงนามที่กรุงฮานอยเมื่อ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ และเร่งรัดการเจรจาและสรุปความตกลงด้านการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งระหว่างกัน
ขยายและส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า
๑๖. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความชื่นชมต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันความพร้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ โดยทั้งสองฝ่ายสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและประสานงานระหว่างกัน อย่างใกล้ชิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยคำนึงถึงศักยภาพการขยายตัวของตลาดของเวียดนามและไทย
๑๗. ผู้นำทั้งสองชมเชยการประสานงานฉันมิตรระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการส่งออกข้าว และเห็นพ้องว่าการอำนวยความสะดวกการค้าสองทางมีความสำคัญ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
๑๘. ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายเวียดนามที่ออกใบอนุญาตการนำเข้าลำไยและลิ้นจี่ของไทย และหวังว่าฝ่ายเวียดนามจะพิจารณาออกใบอนุญาตการนำเข้าให้กับเงาะและมะม่วงของไทยในอนาคตอันใกล้ ฝ่ายเวียดนามขอบคุณไทยที่ออกใบอนุญาตการนำเข้าลิ้นจี่ ลำไยและมะม่วงจากเวียดนาม เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๖ โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาด้วยดีต่อข้อเรียกร้องเพิ่มเติมล่าสุดของฝ่ายเวียดนามในการออกใบอนุญาตนำเข้าเงาะ สับปะรด น้อยหน่า ลูกน้ำนม และส้มโอจากเวียดนาม
๑๙. นายกรัฐมนตรีทั้งสองขอบคุณข้อริเริ่มของภาคเอกชนไทยในการแบ่งปันประสบการณ์การสร้างและพัฒนาการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์งานฝีมือของเวียดนาม โดยเวียดนามชื่นชมประสบการณ์ของไทยในด้านการบริการเพื่อการส่งออกสินค้าการเกษตร ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์อันเป็นเลิศระหว่างกัน
๒๐. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยกย่องการดำเนินงานเชิงรุกอย่างแพร่หลายร่วมกันของภาคเอกชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งและการส่งเสริมเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างกิจการ Start-ups และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป โดยฝ่ายไทยจะส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามในไทย
๒๑. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือด้านการค้า ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี
ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการลงทุน
๒๒. นายกรัฐมนตรีทั้งสองชื่นชมและเห็นศักยภาพของทั้งสองประเทศในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันความพร้อมที่จะเชื่อมโยงการค้าทวิภาคีกับการลงทุนทวิภาคี โดยเฉพาะในสาขาที่ดึงจุดเด่นในฐานะเป้าหมายที่สำคัญของการเป็นฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของอนุภูมิภาคของเวียดนาม
๒๓. ฝ่ายไทยยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในด้านที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อาทิ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม พลังงาน ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง การธนาคาร การท่องเที่ยว สิ่งทอ อุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี เกษตรและการแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยฝ่ายไทยเน้นย้ำความสำคัญของเวียดนามในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ทั้งของภาคเอกชนไทย ของภูมิภาค และของโลก โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก และลดปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนในสาขาข้างต้น
๒๔. ผู้นำทั้งสองแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์ระยะยาวและความมุ่งมั่นในการพัฒนาแผนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของภาคเอกชนไทยต่อชุมชนท้องถิ่นของเวียดนาม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณสุข และการศึกษาให้กับชุมชนท้องถิ่นของเวียดนาม
ขยายความร่วมมือด้านแรงงาน
๒๕. ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการขยายความร่วมมือทวิภาคีด้านแรงงาน และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกการนำเข้าแรงงานเวียดนามในสาขาการก่อสร้างและการประมง ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และความตกลงด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งได้ลงนามไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๖ และรับทราบข้อเรียกร้องของฝ่ายเวียดนามที่ให้ฝ่ายไทยรับแรงงานเวียดนามในภาคการบริการและอุตสาหกรรมการผลิต
ขยายความเชื่อมโยงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๒๖. ผู้นำทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงศักยภาพของความเชื่อมโยงที่ดีในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงจากภาคพื้นทวีปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังภูมิภาคเอเชียและโลก โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างสองประเทศ และในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งรัดการพัฒนาบริการเดินรถโดยสารสาธารณะ เส้นทางประเทศไทย – ลาว – เวียดนาม ผ่านเส้นทาง R9 และ R12 รวมถึงการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล ระหว่างไทย – กัมพูชา – เวียดนาม โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการร่วมกันหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนโดยฝ่ายเวียดนามจะพิจารณาเป็นเจ้าภาพการประชุมการดำเนินการขนส่งตามแนวชายฝั่งทะเล และเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ครั้งที่ ๒ ในไตรมาสที่สามของปี ค.ศ. ๒๐๑๗
๒๗. สำหรับความเชื่อมโยงทางอากาศ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการเปิดเส้นทางบินเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเวียดนามเพิ่มเติมในเส้นทางกว่างบิงห์ – จังหวัดเชียงใหม่
ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
๒๘. นายกรัฐมนตรีทั้งสองรับทราบด้วยความยินดีเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ในระดับประชาชนอย่างกว้างขวาง และเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามแผนงานด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ สนับสนุนบทบาทและกิจกรรมของสมาคมมิตรภาพไทย – เวียดนาม และเวียดนาม – ไทยอย่างเต็มที่ และส่งเสริมการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศให้มากขึ้น ในการนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีที่ประชาชนทั้งสองประเทศมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น
เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๒๙. นายกรัฐมนตรีทั้งสองชื่นชมความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านการสอนภาษาไทยและเวียดนามระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสอนภาษาไทยและเวียดนามในสถาบันการศึกษาของแต่ละประเทศ โดยฝ่ายไทยยินดีเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย – เวียดนาม ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นภายในปีนี้
๓๐. ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยฝ่ายไทยแสดงความพร้อมในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและประสบการณ์กับเวียดนาม โดยเฉพาะการเริ่มต้นการพัฒนาในระดับชุมชนท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อหล่อหลอมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่ม G77 ในปี ค.ศ. ๒๐๑๖
๓๑. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวทางความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคและโลก
๓๒. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องยืนยันส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือตามแผนงานในกรอบต่าง ๆ อาทิ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง (Mekong Sub-regional) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations) นอกจากนี้ โดยที่ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองการครบรอบ ๕๐ ปี การสถาปนาอาเซียน นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่ง และสนับสนุนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ต่อภูมิทัศน์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศของอาเซียน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการเป็นประธานเขตเศรษฐกิจเอเปคของเวียดนามในปี ค.ศ. ๒๐๑๗ และจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๗ ที่นครดานัง
๓๓. นายกรัฐมนตรีทั้งสองเน้นย้ำความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและอย่างยั่งยืน บนหลักการความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเป็นอยู่ที่ดีและผลประโยชน์ของประชาชนในอนุภูมิภาค
๓๔. โดยที่ตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาค นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อข้อเสนอของไทยในการจัดทำแผนแม่บทกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Master Plan) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินแผนงานใหม่ระหว่างประเทศสมาชิกในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมในอนุภูมิภาคต่อไป ฝ่ายไทยเสนอในหลักการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Strategy) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนาม เพื่อเสริมแผนแม่บท ACMECS โดยฝ่ายไทยจะนำเสนอให้ฝ่ายเวียดนามพิจารณาต่อไป
๓๕. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ รวมถึงการเดินเรือและเดินอากาศอย่างเสรีทั้งในและเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้/ทะเลตะวันออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต การพัฒนา และความมั่งคั่งของทุกประเทศ ทั้งในและนอกภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองเน้นย้ำให้ทุกประเทศปฏิบัติตามกรอบปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยประสงค์ให้ประเทศที่อ้างสิทธิฯ เจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติวิธีตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันสนับสนุนการเจรจาแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ให้บรรลุโดยเร็ว โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ทะเลจีนใต้ เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **