เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๘ โดยมีนาย นาย U Kyaw Tin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และนาย Vijay Kumar Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ร่วมเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงและผู้แทนเข้าร่วมการประชุม
รัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – คงคา (Mekong-Ganga Cooperation – MGC) ทบทวนความร่วมมือและทิศทางในอนาคต ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุม และขอบคุณอินเดียสำหรับการมีบทบาทในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและยินดีต่อหัวข้อการประชุม "สร้างความเชื่อมโยงที่ดียิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ที่ประชุมชื่นชมการจัดการประชุม Policy Dialogue ณ กรุงนิวเดลี ซึ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการนี้ อินเดียได้แสดงความตั้งใจที่จะจัดการประชุมผู้นำด้านความเชื่อมโยงครั้งแรกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๖๐ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้กรอบความร่วมมือ MGC เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการเงิน (Financial Sustainability) ต่อไปในอนาคต
ในโอกาสนี้ ไทยได้รับตำแหน่งประธาน MGC ต่อจากเมียนมา ซึ่งไทยได้ย้ำประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) บทบาทของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (๒) เชิญประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ และ (๓) นอกจากนี้ไทยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกเจรจาและดำเนินการในโครงการของกรอบความร่วมมือ MGC ที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จทั้งเรื่องความเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุศักยภาพด้านการค้าของทั้งสองภูมิภาค
กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – คงคา ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดีย กรอบ MGC มีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา และอินเดีย และมี ๗ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคมขนส่ง สาธารณสุข การเกษตร และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม