การประกันสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

การประกันสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ส.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,670 view
          ตามที่เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสตรีของไทย นั้น 
          กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้ 
          ๑. ไทยตระหนักดีถึงความสำคัญในการประกันสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน รวมทั้งที่เป็นสตรี
          ๒. ในปี ๒๕๕๙ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดทำคู่มือสำหรับปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลักการภายใต้คู่มือดังกล่าวครอบคลุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมทั้งหญิงและชาย ทั้งนี้ ไทยตระหนักดีว่ายังมีข้อท้าทายอีกมาก และหวังว่าจะสามารถทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการพัฒนามาตรการต่าง ๆ ต่อไป
          ๓. ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ระหว่างปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๖ ยังระบุถึง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะกลุ่มเป้าหมายที่ควรมีมาตรการและได้รับการคุ้มครอง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและคำนึงถึงบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการผลักดันงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ 
          ๔. ข้อพิพาททางกฎหมายจะต้องดำเนินไปตามกระบวนการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อหาภายใต้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้ถูกกล่าวหามีช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์ความบริสุทธ์ และมีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลตามลำดับชั้นจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความเคารพสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงสิทธิของชุมชน สิทธิในการดำรงชีวิตที่ดี และสิทธิในที่ดินทำกิน รัฐบาลประกันว่ากฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทต่าง ๆ จะถูกบังคับใช้และดำเนินการอย่างยุติธรรมและโปร่งใส