วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอการส่งกลับเหยื่อและผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจากลับประเทศต้นทาง นั้น
กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงการดำเนินการเพื่อให้ความดูแลคุ้มครองผู้เสียหายและเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ดังนี้
๑. ตามที่ศาลอาญาพิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สั่งจำคุกจำเลย จำนวน ๖๒ ราย ตั้งแต่ ๔ ปี - ๙๔ ปี เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการให้ความสำคัญกับประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗
๒. ในส่วนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยจัดให้อยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพของรัฐ ซึ่งภายในสถานคุ้มครองฯ ผู้เสียหายฯ จะได้รับบริการทางสาธารณสุข การส่งเสริมโอกาสในการทำงาน การศึกษาและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมถึงการกลับ
ภูมิลำเนาเดิม และการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามด้วย
๓. ในประเด็นการส่งตัวผู้เสียหายฯ กลับประเทศต้นทาง นั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ อนุญาตให้ผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์อยู่ในไทยได้ชั่วคราวและทำงานได้ตามกฎหมายเป็นเวลา ๒ ปี หลังจากสิ้นสุดการดำเนินคดี
๔. บนพื้นฐานข้างต้น ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและรัฐบาลบังกลาเทศได้ร่วมมือกันพิสูจน์สัญชาติชาวบังกลาเทศที่เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและรวมถึงผู้เสียหายฯ ในไทย และได้ทำการส่งตัวคนทั้งสองกลุ่มกลับประเทศแล้วกว่า ๑,๕๐๐ คน สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวเมียนมา เมื่อพิสูจน์ว่า ผู้เสียหายฯ มีสัญชาติเมียนมา รัฐบาลไทยก็ได้ส่งตัวกลับภูมิลำเนา โดยมีเจ้าหน้าที่จากประเทศเมียนมาร่วมรับตัวที่ชายแดน ในกรณีผู้เสียหายชาวโรฮีนจา ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสัญชาติใด ทางการไทยก็ได้ร่วมมือ กับ UNHCR และ IOM ในการส่งผู้เสียหายฯ กลุ่มนี้ ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม
๕. ในการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง รัฐบาลไทยดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของผู้เสียหายฯ เมื่อกลับถึงภูมิลำเนาด้วย ดังนั้น ทางการไทยจะไม่ส่งผู้เสียหายฯ กลับไปสู่ภาวะอันตราย โดยการส่งกลับนั้นจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ มีศักดิ์ศรี และปลอดภัย
๖. รัฐบาลไทยได้จัดล่ามและผู้ประสานงานด้านภาษาช่วยเหลือผู้เสียหายฯ ตั้งแต่การแรกรับ การสัมภาษณ์ การคัดแยก และการพิสูจน์สัญชาติ มาโดยตลอด โดย ณ เดือนธันวาคม ๒๕๕๙ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีล่าม ๖ ภาษา จำนวน ๒๔๕ คน (เมียนมา ๑๐๖ คน กัมพูชา ๘๐ คน โรฮีนจา ๔๓ คน ลาว ๑๔ คน มลายู ๑๐ คน และเวียดนาม ๑ คน) เพื่อให้ผู้เสียหายฯ รับทราบ เข้าใจ และสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของไทยได้ นอกจากนี้ เพื่อเน้นการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในปี ๒๕๕๙ ยังได้จัดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานคุ้มครองฯ ทั่วประเทศ จำนวน ๒๒๙ คน เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐาน
การคุ้มครองเด็กผู้เป็นผู้เสียหายด้วย
๗. โดยสรุป การดำเนินการเกี่ยวกับคดี “โรฮีนจา” ของรัฐบาลไทย สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นรักษาความมั่นคงของประเทศและสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาหลักการมนุษยธรรมและสิทธิมนุษย์ชน โดยได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกรณีค้ามนุษย์ ตามนโยบาย “Zero tolerance” และให้การดูแลคุ้มครองผู้เสียหายและเหยื่อจากการค้ามนุษย์ โดยได้ประสานงานกับรัฐบาลประเทศต้นทาง เพื่อส่งคนกลุ่มนี้กลับประเทศตามความสมัครใจ มีศักดิ์ศรี ปลอดภัย และร่วมมือทุกฝ่าย รวมทั้ง UNHCR/IOM ในเรื่องการโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามด้วย
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **