วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ ๙ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐด้านกลาโหมและการต่างประเทศสิงคโปร์ และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา โดยมีนาย V.K. Singh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เป็นผู้กล่าวเปิด โดยเป็นการอภิปราย ในหัวข้อ “Waters of Asia : Cultural, Social and Political Ties”
การประชุมฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ และอินเดีย หารือเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดียอย่างรอบด้าน อาทิ การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงวางแผนความสัมพันธ์ระหว่างกันใน ๒๕ ปีข้างหน้า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย ใน ๒๕ ปีข้างหน้า โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
๑. ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกกำลังเคลื่อนจากภูมิภาคแปซิฟิกมายังภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก วาระใหญ่ ใน ๒๕ ปีข้างหน้าของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอินเดียกับอาเซียน คือ ความร่วมมือกันสร้างประชาคมอินโด – แปซิฟิกให้เป็นประชาคมที่มั่งคั่งและมีสันติสุข
๒. จุดเชื่อมต่อ หรือ ก้อนอิฐ (building blocks) ของประชาคมอินโด – แปซิฟิก มีอยู่แล้ว คือ (๑) แผนเชื่อมโยงอาเซียน ๒๐๒๕ (๒) แผนเชื่อมโยงห้าประเทศบนผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งกำลังจะตามมา (๓) แผนเชื่อมโยง ๗ ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC (๔) แผนเชื่อมโยง ๒๑ ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียภายใต้กรอบสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) (๕) แผนเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ๖ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งหากอินเดียและอาเซียนร่วมผลักดันให้มีการเชื่อมแผนดังกล่าวเข้าด้วยกันก็จะเป็นพื้นฐานของประชาคมอินโด – แปซิฟิก
๓. ไทยประสงค์ที่จะแบ่งปันประสบการณ์จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ว่า การจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างประชาคมอินโด – แปซิฟิกให้เป็นประชาคมที่มั่งคั่งและมีสันติสุข ต้องพยายามเปลี่ยนสนามรบที่อาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคให้เป็นตลาดการค้า ดังที่พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยได้เคยกล่าวไว้ว่า “turn battlefields into marketplaces”
๔. อินเดียและอาเซียนควรเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ระหว่างกันเพื่อเป็นแกนของประชาคมอินโด – แปซิฟิก ในการนี้ เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมอินเดีย – เมียนมา – ไทย จะ เสร็จภายใน ๑๘ เดือน โดยเส้นทางสายนี้จะเชื่อมกับถนนในลาวและเวียดนามได้ในอนาคต และจะเป็นสะพานทางบก (land bridge) เชื่อมอินเดียและเอเชียใต้กับห้าประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีกรอบความร่วมมือแม่น้ำคงคา – แม่โขงอยู่แล้ว โดยกรอบดังกล่าวอาจขยายให้รวมแม่น้ำพรหมบุตรของอินเดีย กลายเป็นกรอบความร่วมมือของประเทศในกลุ่มแม่น้ำทั้งห้า ซึ่งอาจตั้งชื่อได้ว่า “ปัญจะธารา” หรือ กลุ่มแม่น้ำห้าสาย (คงคา พรหมบุตร อิรวดี เจ้าพระยา โขง)
อนึ่ง การประชุม Delhi Dialogue เป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศอินเดียร่วมกับFederation of Indian Chambers of Commerce and Industry (FICCI) และ Institute for Defence Studies and Analyses (IDSA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย อย่างรอบด้าน ทั้งประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **