รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development - HLPF) เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development - HLPF) เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,377 view

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยต่อเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development - HLPF) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการลดความยากจน การบรรเทาปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และการพัฒนาด้านการสาธารณสุขของไทย ตลอดจนการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐

ถ้อยแถลงของไทยยังได้นำเสนอแนวทางขจัดความยากจนและส่งเสริมความมั่งคั่งจากประสบการณ์ของไทย ได้แก่ (๑) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเริ่มจากระดับท้องถิ่นและชุมชน (๒) การรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงผ่านการใช้นโยบายประชารัฐที่มุ่งสร้างหุ้นส่วนด้านการพัฒนาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน (๓) การสร้างและส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๗ โดยในห้วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ เมื่อปี ๒๕๕๙ ไทยได้เสนอความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นแนวทาง (SEP for SDGs Partnership) ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนให้ UN Office for South-South Cooperation (UNOSSC) กลับมาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใต้–ใต้ในเอเชียแปซิฟิก การเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนกับสหประชาชาติในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ การผลักดันประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) การเป็นผู้ประสานงานสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนของที่ประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia – CICA)

การประชุม HLPF เป็นการประชุมประจำปีที่สหประชาชาติจัดขึ้นเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ นับแต่ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับรองด้วย สำหรับปีนี้ มีหัวข้อหลักคือ “การขจัดความยากจนและส่งเสริมความมั่งคั่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” (Eradicating poverty and promoting prosperity in a changing world) โดยการเข้าร่วมการประชุม HLPF นอกจากจะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของไทยด้านการส่งเสริมและการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในการนำพาให้ไทยและประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

ในช่วงการประชุม HLPF 2017 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–ญี่ปุ่น ครบรอบ ๑๓๐ ปี และความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ