ระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน – ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๕ (15th East Asia Forum) ที่เมืองฉางชา มณฑลหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อหลัก “20 Years of APT Cooperation: Towards the East Asia Economic community”
ที่ประชุมได้ทบทวนบทบาทและความสำเร็จของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ซึ่งได้ขยายครอบคลุมไปมากกว่า ๒๐ สาขา โดยสาขาความร่วมมือที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ได้แก่ สาขาเศรษฐกิจ และการเงินการคลัง และที่ประชุมเห็นถึงความสาคัญในการมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Economic community – EAEc) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และมีความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และการปกป้องทางการค้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายของการจัดตั้ง EAEc (ภาครัฐ) (๒) การส่งเสริมบทบาทของ MSMEs ในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (ภาคเอกชน) และ (๓) ความเป็นไปได้ในการจัดทำพิมพ์เขียวหรือ Roadmap เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง EAEc (ภาควิชาการ)
ในโอกาสนี้ ไทยได้เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามในด้านต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก อาทิ การผลักดันให้เกิดการหารือเพื่อจัดทำ Blueprint หรือ Roadmap เพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้ง EAEc และการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การบูรณาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาทิ การเงินการคลัง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยสนับสนุนให้การเจรจา Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) บรรลุข้อตกลงโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมและรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในฐานะเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและการเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่าง ๆ
การส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามและการมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะเป็นประโยชน์ต่อไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันและการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (MPAC 2025) และแผนการดำเนินการความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ระยะที่ ๓ ( IAI Work Plan II)
อนึ่ง การประชุมเวทีเอเชียตะวันออก จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการความร่วมมือที่เสนอแนะโดยกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก (East Asia Vision Group – EVG) และเป็นเวทีสำหรับการหารือ ๓ ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ที่มีขึ้นประจำทุกปี ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศบวกสาม สลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยในปีนี้ จีนเป็นเจ้าภาพ