ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 21 (21st ASEAN – ROK Dialogue)

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 21 (21st ASEAN – ROK Dialogue)

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 1,344 view

เมื่อวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2560 นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 21 (21st ASEAN – ROK Dialogue) ที่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจายกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN – Korea FTA หรือ AKFTA) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) และเร่งจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ให้เสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดแสดงนิทรรศการด้านวัฒนธรรมในพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Culture House) ในเดือนกันยายน 2560  ที่นครปูซาน เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาอาเซียนและปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN – ROK Cultural Exchange Year) ในปีนี้

ในโอกาสนี้ ไทยได้ผลักดันประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดย (1) สนับสนุนการขยายบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (MPAC 2025) (2) ผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่น ๆ ในสาขาที่สาธารณรัฐเกาหลีเชี่ยวชาญ เช่น green growth และ ICT (3) สนับสนุนให้สาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มบทบาทด้านการระดมเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐ – ภาคเอกชน (Public Private Partnership – PPP)


2. พัฒนาการเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดย (1) ย้ำถึงความสำคัญของการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อกระตุ้นสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้แข็งแกร่งและมั่นคง โดยส่งเสริม MSMEs และ MPAC 2025 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) สนับสนุนให้อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีร่วมมือและเร่งรัดการเจรจา RCEP เพื่อกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรี (3) สนับสนุนให้สาธารณรัฐเกาหลีแบ่งปันประสบการณ์การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง


3. AKFTA โดย (1) เสนอให้ประเมินการใช้ประโยชน์จาก AKFTA ในด้านการลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคที่เกิดจากมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี (2) สนับสนุนความร่วมมือด้าน MSMEs และการสร้างนวัตกรรมใน ASEAN – Korea Business Council (AKBC)