ไทยในฐานะประธานกลุ่ม FPGH จับมือประเทศพันธมิตรกระตุ้นทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง

ไทยในฐานะประธานกลุ่ม FPGH จับมือประเทศพันธมิตรกระตุ้นทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,284 view

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ไทยในฐานะประธานกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) ได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มซึ่งประกอบด้วย บราซิล ฝรั่งเศส นอร์เวย์ อินโดนีเซีย เซเนกัล และแอฟริกาใต้จับมือกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม เมียนมา และอิหร่าน จัดกิจกรรมอภิปรายในหัวข้อ “การแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบางเพื่อสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ ๗๐ ณ นครเจนีวา โดยมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมี Dr. Timothy Evans, Senior Director, Health, Nutrition & population Global Practice ของธนาคารโลกเป็นผู้กล่าวถ้อยแถลง 

การอภิปรายมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ปัญหาสุขภาพของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีบริบททางสังคมที่ต่างกัน รวมทั้งชี้ให้เห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง โดยไทยได้กล่าวถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและเอื้ออาทร โดยครอบคลุมแรงงานผู้โยกย้ายถิ่นฐานและบุคคลไร้รัฐ ฝรั่งเศสกล่าวถึงการส่งเสริมอนามัยทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มสตรี เด็ก และวัยรุ่น อินโดนีเซียนำเสนอความท้าทายของการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ประชากรในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการ คนเร่ร่อน ผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ บราซิลกล่าวถึงการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มชนพื้นเมือง นอร์เวย์ได้แนะนำผลงานของ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI)  ที่ได้พัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคระบาดซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเปราะบาง และญี่ปุ่นได้ย้ำว่าหลักประกันสุขภาพไม่ใช่เรื่องของการกุศลแต่เป็นเรื่องการธำรงความยุติธรรม และเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความสุขให้ประชาชน โดยผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้กล่าวสรุปว่า การจัดการปัญหาข้างต้น จำเป็นต้องสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

การอภิปรายในครั้งนี้เป็นการแสดงบทบาทนำของไทยในการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสุขภาพกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม โดยแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีของไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ การอภิปรายได้รับความสนใจจากผู้แทนประเทศต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมรวม ๘๐ คน     

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ