๑. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓ ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่กรุงโตเกียว โดยมีนายโยะชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วม การหารือครอบคลุมความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบด้าน
๒. หัวใจสำคัญของการหารือครั้งนี้ คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือที่เป็นไปได้ในการพัฒนา “๔ พื้นที่เพื่อการพัฒนา – ๑๕ โครงการหลัก – ๕ โครงการลำดับสูงสุดในปี ๒๕๖๐” ที่จะมีการลงทุน ๔๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา ๕ ปี ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกกรุงเทพฯ – ระยอง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาเมืองใหม่ ๓ แห่งในภาคตะวันออก ที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงด้านความร่วมมือเพื่อพัฒนา EEC ระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกับกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของญี่ปุ่นด้านการยกระดับอุตสาหกรรมไทย
๓. ทั้งสองฝ่ายได้ประเมินความคืบหน้าความร่วมมือระบบรางในภาพรวม โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี “ชินคันเซ็น” ของญี่ปุ่น และการใช้เทคโนโลยีระบบรางของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งได้แสดงความยินดีต่อผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เรื่องรถไฟขนส่งสินค้าในไทย เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก – ตะวันตก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีบางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบสถานีรถไฟ ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีกับการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในด้านระบบราง
อีกด้วย
๔. ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือจัดตั้งศูนย์รวมข้อมูลในไทยโดยใช้เทคโนโลยีสถานีอ้างอิงและปรับข้อมูลดาวเทียมนำทาง (Continuously Operating Reference Station: CORS) เพื่อสร้างสังคมที่มีความก้าวหน้าทางระบบสารสนเทศ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบดาวเทียมเพื่อการนำร่องและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการจัดตั้งศูนย์รวมข้อมูลดังกล่าว ระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๕. ทั้งสองฝ่ายแสดงความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะร่วมกันพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลสำหรับการค้าและการเงินรูปแบบใหม่ การยกระดับการค้าข้ามชายแดน การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเพื่อรองรับอุตสาหกรรม ๔.๐ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาสำคัญในแผนแม่บทกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งไทยจะเสนอในช่วงการเป็นประธาน ACMECS ในปี ๒๕๖๑
๖. ที่ประชุมได้หารือความร่วมมือในการเสริมสร้าง SMEs ไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเชื่อมโยงทางดิจิทัลระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) ทั้งนี้ สองฝ่ายได้แสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาเฉพาะ ซึ่งรวมถึงยานยนต์ ระบบราง และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๗. ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ประจำกรุงเทพฯ กับอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างประธาน JETRO กรุงเทพฯ กับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)