วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยและญี่ปุ่นเดินทางเยือนสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา เพื่อหารือสามฝ่ายเรื่องการขยายความร่วมมือภายใต้กรอบไตรภาคีไทย – ญี่ปุ่น – เมียนมา ได้แก่ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency – JICA) กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา (Giant Butter Catfish) และกุ้ง
ในโอกาสเดียวกัน คณะผู้แทนไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย ยี ปู (U Nyi Pu) มุขมนตรีรัฐยะไข่ ณ เมืองซิตต่วย โดยมุขมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่ไทยและญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีไทย – ญี่ปุ่น – เมียนมา และขอบคุณไทยสำหรับโครงการสร้างโรงสีข้าวและอาคารโรงเรียนของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีไทย – เมียนมา รวมทั้งได้แสดงความสนใจแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทย
อนึ่ง การให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมาดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเมียนมามีความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยให้เมียนมาสามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ข้อที่ ๑๗ เรื่องการสร้างความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) ข้อที่ ๒ การขจัดความอดอยากและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Zero Hunger) และข้อ ๔ การส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ (Quality Education) รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทย ผ่านความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนไตรภาคี (North – South – South Cooperation) และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South – South Cooperation) โดยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และขับเคลื่อนการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs Partnership)
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **