เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Symposium on Inter-Regional Partnership for Sustainable Development สืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ ๑๑ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศถึงข้อเสนอของฝ่ายไทยที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซมว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ๒๕๖๐ เพื่อเป็นโอกาสในการนำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการประชุมครั้งนี้มีวิทยากรจากไทยและประเทศสมาชิกอาเซม ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน เยอรมนี เวียดนาม ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ ๑๗๐ คน
นายทรงพล สุขจันทร์ อธิบดีกรมยุโรป ได้กล่าวเปิดงาน เน้นจุดแข็งของเอเชียและยุโรปที่สามารถเรียนรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกันและกันในการดำเนินการไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) และได้เชิญนายกิตติ วะสีนนท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน นำเสนอเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP)
ฝ่ายไทยได้นำเสนอแนวคิด SEP for SDGs Partnership เพื่อส่งเสริมให้ SEP เป็นทางเลือกหนึ่งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศต่าง ๆ โดยวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมต่างแสดงความชื่นชมและเห็นว่า SEP เป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีการบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่สะท้อนหลักการของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสร้างแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน การวางแผนการพัฒนาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของความรู้และข้อมูล และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล และผู้อภิปรายจากยุโรปเห็นว่า SEP มีหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการบรรลุ SDGs ของยุโรปที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ วิทยากรจากต่างประเทศได้แบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ในระดับประเทศและบทบาทความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยต่างเน้นย้ำความสำคัญของการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีความเป็นเจ้าของร่วมในโครงการพัฒนาตลอดจนการกำหนดแผนงาน จัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรม และมีการติดตามประเมินผลโดยการเก็บข้อมูลสถิติ เพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน อันถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอาเซมต่อการอนุวัติ SDGs
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยได้รับฟังประวัติ วัตถุประสงค์ และโครงการของศูนย์ฯ ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มแรกเพื่อพลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรมมาเป็นเเหล่งเพาะปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่น และขณะนี้ศูนย์ฯ ได้พัฒนามาเป็นต้นแบบของการปลูกป่า การทำเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งเป็นเเหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจในปัจจุบัน
ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ฯ จำนวน ๒ ฐาน ได้เเก่ (๑) ศูนย์เรียนรู้วิถีพอเพียง โดยเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเพิ่มผลผลิตของสัตว์เศรษฐกิจ และ (๒) สวนป่าสมุนไพร โดยเรียนรู้การนำพืชและสมุนไพรที่สามารถพบได้ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และของใช้ประจำวันนำออกขายสู่ตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมต่างตระหนักว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง