เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานงานเลี้ยงรับรองเพื่อฉลองโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ของการก่อตั้งกรอบความร่วมมือความคิดริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการไทย มหาวิทยาลัย นักวิชาการเอเชียใต้ เลขาธิการ BIMSTEC และคณะทูตประเทศในภูมิภาคเอเชียประจำประเทศไทยเข้าร่วมงานประมาณ ๑๐๐ คน นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั้ง ๗ ประเทศด้วย
ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการประชุมนานาชาติ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี การก่อตั้ง BIMSTEC และครบรอบ ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ “Strengthening Cultural Linkages in the Bay of Bengal Region” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการเสวนาระหว่างนักวิชาการจากภูมิภาคเอเชียใต้ เมียนมา และไทย เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอ่าวเบงกอลในทุกมิติ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ การค้า การศึกษา การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมทั้งทิศทางในอนาคตของความร่วมมือ BIMSTEC โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยืนยันบทบาทของไทยในกรอบ BIMSTEC และสร้างความรับรู้ของกรอบ BIMSTEC ในประชาคมระหว่างประเทศ และไทยเห็นความสำคัญของกรอบ BIMSTEC ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งไทยแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์มาโดยตลอดในฐานะผู้ริเริ่มและผลักดันเพื่อประสานนโยบาย Look West ของไทยเข้ากับนโยบาย Act East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้
อนึ่ง BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๗ ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ ๑.๕ พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของประชากรโลก
BIMSTEC มีความร่วมมือ ๑๔ สาขา ได้แก่ (๑) การค้าและการลงทุน (๒) เทคโนโลยี (๓) คมนาคมและการสื่อสาร (๔) พลังงาน (๕) ท่องเที่ยว (๖) ประมง (๗) เกษตร (๘) สาธารณสุข (๙) การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (๑๐) การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (๑๑) การลดความยากจน (๑๒) วัฒนธรรม (๑๓) ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน และ (๑๔) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแกนนำในสาขาปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชน สาธารณสุข และการประมง