ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 1,427 view

           ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยการจัดการประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ ๑๑ ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศความคิดริเริ่มของไทยในการจัดการประชุมอาเซมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ๒๕๖๐ เพื่อหาลู่ทางในการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะนำเสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
          การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนอกจากวิทยากรชาวไทยแล้ว ไทยได้เชิญวิทยากรจากสมาชิกอาเซม ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน เยอรมนี เวียดนาม ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ มาร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประมาณ ๑๗๐ คน

          การประชุมฯ ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง โดยช่วงเช้าจะเป็นการหารือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรป และในช่วงบ่ายจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการของสมาชิกอาเซมในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน และในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเรียนรู้โครงการตัวอย่างด้านการพัฒนาของไทยตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียง

          อาเซมหรือการประชุมเอเชีย – ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยมีความร่วมมือครอบคลุม ๓ เสาหลัก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา อาเซมประกอบไปด้วยสมาชิก ๕๑ ประเทศ และ ๒ องค์กร ได้แก่ (๑) ฝ่ายยุโรป ๓๐ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ สหภาพยุโรป (๒) ฝ่ายเอเชีย ๒๑ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน