วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน
การประชุมเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ ๒๑ มีผู้แทนเข้าร่วมจาก ๑๑๐ ประเทศ เป็นผู้แทนระดับผู้นำ ๒๘ คน ผู้แทนระดับรัฐมนตรีประมาณ ๔๐๐ คน รวมถึงผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศที่มีส่วนร่วมเพื่อระดมความคิดในการกำหนดแนวทางพัฒนาข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ ๒๑ (Belt and Road Initiative - BRI) ให้มีความก้าวหน้าต่อไป และส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำหลักการ BRI ได้แก่ สันติภาพและความร่วมมือ ความเปิดกว้างและความครอบคลุมทุกภาคส่วน การรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน นวัตกรรม และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ทั้งนี้ BRI มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง พัฒนากลไกความร่วมมือ และร่วมกันสร้างฉันทามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยจีนประสงค์ให้ BRI สอดรับกับความต้องการของประเทศในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา และสนับสนุนจุดเด่นของแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ BRI จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์ของจีนฝ่ายเดียว แต่เป็นนโยบายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ร่วมกันกำหนด และจีนยังได้ประกาศเพิ่มเงินกู้ Silk Road Fund อีกจำนวน ๑ แสนล้านหยวนอีกด้วย
ที่ประชุมได้ร่วมสนับสนุน BRI ของจีน โดยเน้นความครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การเมือง การพัฒนา ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรม ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าพื้นฐานสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ของ BRI คือ การพัฒนาโครงสร้างเพื่อการบูรณาการที่ดี เน้นย้ำความเชื่อมโยงระหว่าง BRI และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสนับสนุนการค้าเสรี การยกเลิกข้อกีดกันทางการค้า และแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการฝ่ายเดียว การใช้ลัทธิกีดกันทางการค้า และการปลุกกระแสชาตินิยม และสนับสนุนกลไกพหุภาคี ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า BRI จะเป็นปัจจัยทางบวกที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมเวทีหารือย่อยความเชื่อมโยงด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยได้กล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนและเห็นว่าจีนประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้ BRI ซึ่งเป็นวาระระดับโลกมีผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในเวลาที่จำกัด ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศควรสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่ความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงนโยบายไทยที่มีความสอดคล้องและสนับสนุน BRI ในระดับประเทศ ได้แก่ การส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนุภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับ China - Indochina Economic Corridor ของ BRI นโยบายประเทศไทย ๔.๐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นนวัตกรรม รวมทั้งการผลักดัน ACMECS Master Plan on Connectivity ในฐานะประธาน ACMECS ในปีหน้า นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของไทยในฐานะตัวเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ BRI ในภาพรวม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้ง การประชุม BRICS ซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพและนายกรัฐมนตรีตอบรับจะเข้าร่วมประชุมในเดือนกันยายน ๒๕๖๐ และประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **